วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559

พระเทพสาครมุนี (หลวงปู่แก้ว)วัดช่องลม

 พระเทพสาครมุนี (หลวงปู่แก้ว)วัดช่องลม

พระเทพสาครมุนี(หลวงปู่แก้ว) ท่านเป็นผู้มีคุณธรรมสูง มีความมุมานะแรงกล้ามีใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง และเป็นผู้มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีความสุขุมรอบคอบตัดสินใจแน่วแน่ เมื่อท่านมุ่งมั่นจะทำอะไรแล้วท่านจะต้องทำให้สำเร็จ และงานทุกชิ้นที่จะทำท่านต้องวางแผนไว้ในใจอย่างรอบคอบที่สุด เมื่อผลงานออกมาจึงเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาน-มั่นคง-ท่านเป็นผู้มีสายตาอันยาวไกล และมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมยากที่จะหาใครเปรียบเทียบกับท่านได้
ประวัติพระเทพสาครมุนี (หลวงปู่แก้ว)อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม)และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •พระเทพสาครมุนี (หลวงปู่แก้ว) ฉายา สุวณณโชโต อายุ ๗๙ ปี กับ ๘ เดือนเศษ พรรษา ๕๙ ป.ธ. น.ธ. เอก ซึ่งอดีตเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธิตวราราม ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร และอดีตเป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครสถานะเดิมเดิมชื่อแก้ว นามสกุล ธนสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๒ ปีเถาะ เวลา ๒๑.๐๐ น. ณ ที่ตำบลกระสัง อำเภอกระสัง จังหวัดพระตะบอง ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นอาณาจักรของประเทศไทย มีบิดาชื่อ กัน มารดาชื่อ วงษ์


 บรรพชาเมื่ออายุได้ ๑๒ ขวบ ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดจำบกมาศ ตำบลกระสัง อำเภอกระสัง จังหวัดพระตะบอง เมื่อวันที่ ๑ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านท่านเพื่อศึกษาเล่าเรียนชั้นสามัญ จนท่านได้มีความรู้อ่านและเขียนภาษาไทย และภาษาขอมได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะภาษาขอมปรากฏว่า ท่านมีความรู้แตกฉานเป็นพิเศษในขณะที่ท่านบวชเป็นสามเณรนั้น ท่านได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเป็นอย่างดีอุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ ที่วัด จำบกมาศ โดยมี พระปัญญาสุธรรม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์เผือก พรหมสโร วัดกระสัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เกตุ แห่งวัดชำนิหัตถการ กรุงเทพมหานคร เป็นอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖เมื่อท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้พิจารณาเห็นว่า การศึกษาของวัดทางบ้านนอกนี้ ยังไม่ค่อยเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะการศึกษาพระปริยัติธรรมและบาลี ท่านประสงค์จะศึกษาพระปริยัติธรรม และภาษาบาลีให้กว้างขวางยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ จึงได้ตัดสินใจย้ายตามอาจารย์ของท่านเข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดชำนิหัตถการ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนั้นเมื่อท่านได้ย้ายเข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดชำนิหัตถการแล้ว ก็ได้เริ่มศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม และภาษาบาลีควบคู่กันไปด้วย และได้เรียนอย่างจริงจัง เนื่องจากการศึกษาสมัยนั้น ยังไม่ค่อยก้าวหน้าเหมือนสมัยนี้ ตำราเรียน สมุด ดินสอ และอุปกรณ์การศึกษาต่างๆ ยังไม่ค่อยมีใช้มากนัก ต้องอาศัยสมุดข่อย หรือใบลานแทนสมุด และเหล็กจารแทนดินสอ และต้องศึกษาจากอาจารย์เท่านั้น ไม่มีโอกาสที่จะไปค้นคว้าจากหนังสืออื่นๆ เนื่องจากหนังสือหายาก เมื่ออาจารย์สอนมาเท่าใดก็จะต้องจดจำไว้เท่าที่อาจารย์สอนมาให้แต่ละวัน และโดยเฉพาะการศึกษาภาษาบาลีนั้น จะต้องเรียนตามหลักสูตร มูลกัจจายนะซึ่งจะต้องใช้ความจำและความเข้าใจอย่างยอดเยี่ยมจริงๆในขณะที่ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและบาลีอยู่นั้น ท่านยังได้รับภาระหน้าที่เป็นครูสอนธรรมและบาลีอีกด้วย ณ ที่วัดชำนิหัตถการนั้นเป็นเวลาหลายปี นอกจากท่านจะสอนที่วัดชำนิหัตถการแล้ว ยังรับหน้าที่สอนธรรมให้แก่ทางวัดอื่นๆ ที่ไม่มีครูสอนอีกด้วยเช่นในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ทางวัดหลักสองราษฎร์บำรุง ตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ขาดครูสอนธรรม ท่านได้เดินทางมาสอนให้ เป็นเวลา ๑ ปี ในขณะที่ท่านเป็นครูสอนอยู่ที่วัดหลักสองฯ นั้น นอกจากท่านจะสอนธรรมแล้ว ท่านยังทำกิจอื่นที่ทางวัดมีอยู่ โดยเฉพาะกิจพระศาสนาทุกชนิด เท่าที่ท่านสามารถทำได้ นอกจากท่านจะมีความรู้ความสามารถแล้ว ท่านยังเป็นพระที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย มีระเบียบ มีอัธยาศัย และมีมนุษย์สัมพันธ์ดีอีกด้วย จึงทำให้ชื่อเสียงของท่านเริ่มปรากฏแก่สายตาประชาชนมากขึ้นโดยลำดับจนกระทั่งประชาชนตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมืองฯ เห็นว่า พระเทพสาครมุนี (มหาแก้ว ในสมัยนั้น) เป็นพระที่มีความรู้ ความสามารถดี และมีหน่วยก้านดีในพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง ซึ่งนับว่าประชาชนตำบ้านบ่อเป็นผู้ที่มีสายตาอันแหลมคม จึงได้อาราธนาท่านมาเป็นครูสอนบาลี ณ ที่วัดใหญ่บ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นมาการย้ายมาเป็นครูสอนบาลีในสำนักวัดใหญ่บ้านบ่อนี้เอง ทำให้ชื่อเสียงของท่านปรากฏชัดแก่สายตาประชาชน ในจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมากประชาชน พร้อมทั้งพระภิกษุสามเณร ตลอดจนพระเถรผู้ใหญ่ รู้จักท่านและวัดใหญ่บ้านบ่อได้ดีขึ้น เนื่องจากท่านได้ปลูกฝังการศึกษาไว้ที่วัดใหญ่บ้านบ่ออย่างสุดความสามารถ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลังนั่นเอง ชั่วระยะเวลาไม่นานนัก การศึกษาของวัดใหญ่บ้านบ่อก็เจริญก้าวหน้า มีนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมและบาลีเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสำนักเรียนที่มั่นคง และมีชื่อเสียงในจังหวัดสุมทรสาครสำนักหนึ่ง นักศึกษาหลายต่อหลายรุ่นที่เรียนจากสำนักวัดใหญ่บ้านบ่อ ได้เป็นมหาเปรียญเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลงานของท่านที่ได้ผลิตนักศึกษาเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ของท่าน เพื่อถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้อื่นอีกต่อหนึ่ง นอกจากนั้นท่านยังเป็นที่รัก เป็นที่เคารพ นับถือ ของชาวตำบลบ้านบ่อ และตำบลใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในหมู่ประชาชน ท่านเป็นอาจารย์สอนนักธรรมและบาลีอยู่ที่วัดใหญ่บ้านบ่อ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ รวมระยะเวลาที่อยู่วัดใหญ่บ้านบ่อ เป็นเวลา ๘ ปีเศษ เมื่อสมัยท่านอยู่วัดใหญ่บ้านบ่อนั้น ท่านเป็นเพียงครูสอนนักธรรม และครูสอนบาลีเท่านั้น ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่าน เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในจังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะประชาชนชาวตำบลบ้านบ่อ ปฏิปทาการปฏิบัติ และการสนใจในกิจพระศาสนาของท่านย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาเป็นอย่างดียิ่งในขณะนั้น วัดคลองตันราษฎร์บำรุง ตำบลคลองตัน อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ขาดเจ้าอาวาสชั่วคราว ประชาชนพร้อมทั้งภิกษุ สามเณร ที่วัดคลองตันฯ จึงมีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะอาราธนา พระเทพสาครมุนี (มหาแก้ว) ในสมัยนั้นมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดคลองตันฯ นี้ คณะสงฆ์ และประชาชนจึงได้พากันมาอาราธนาท่านไปดำรงตำแห่งเจ้าอาวาสที่วัดคลองตันราษฎร์บำรุง นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาท่านจึงต้องย้ายจากวัดใหญ่บ้านบ่อ อำเภอเมืองสมุทรสาคร เพื่อมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดคลองตันราษฎร์บำรุง ตำบลคลองตัน อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นต้นมาพระเทพสาครมุนี(หลวงปู่แก้ว) ท่านเป็นผู้มีคุณธรรมสูง มีความมุมานะแรงกล้ามีใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง และเป็นผู้มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีความสุขุมรอบคอบตัดสินใจแน่วแน่ เมื่อท่านมุ่งมั่นจะทำอะไรแล้วท่านจะต้องทำให้สำเร็จ และงานทุกชิ้นที่จะทำท่านต้องวางแผนไว้ในใจอย่างรอบคอบที่สุด เมื่อผลงานออกมาจึงเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาน-มั่นคง-ท่านเป็นผู้มีสายตาอันยาวไกล และมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมยากที่จะหาใครเปรียบเทียบกับท่านได้ นอกจากนั้น ท่านยังเป็นผู้ที่มีความตื่นอยู่เสมอ หมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ติดตามความเคลื่อนไหวของโลก และบ้านเมืองตลอดเวลาโดยการอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน วันละ ๓-๔ ฉบับ และอ่านวารสาร นิตยสารอื่นๆ อีกมากมาย ท่านจึงเป็นบุคคลที่ทันสมัย ทันโลกอยู่เสมอไม่ยอมอยู่นิ่งส่วนในด้านการปกครอง นับว่าท่านเป็นแบบอย่างที่ดี เคร่งครัดต่อระเบียบวินัยเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดเช่นการวางระเบียบแบบแผน และกติกาของวัดไว้อย่างเคร่งครัด ให้ลูกวัดหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน ให้ปฏิบัติตามระเบียบ กฎ กติกาสงฆ์ อย่างจริงจัง เมื่อลูกศิษย์ทำอะไรผิดพลาด ท่านก็เรียกมาว่ากล่าวตักเตือน ชี้แจงสิ่งที่ผิดถูกให้เข้าใจ และในบางโอกาสก็ลงโทษบ้างพอสมควรแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนระเบียบ ท่านมองศิษย์ของท่านทุกคนเหมือนลูกในไส้ เพราะฉะนั้นการปกครองจึงเป็นลักษณะ พ่อปกครองลูก ให้ความเป็นกันเองต่อศิษย์ทุกคน เสมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน คุณความดีอันนี้ย่อมปรากฏชัดแก่สายตาต่อคณะศิษย์ และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทุกท่านอย่างดีอยู่แล้ว โดยไม่อาจปฏิเสธได้นอกจากนี้ด้านการศึกษาแล้ว นับว่าท่านไม่เคยละเลย โดยถือว่าท่านจะอยู่ในแห่งใดก็ตามท่านจะต้องส่งเสริมให้ พระภิกษุ สามเณร ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ในบางครั้ง ท่านก็ยังเป็นครูสอนนักธรรม และบาลีเสียเอง ถึงแม้ท่านจะมีภาระหน้าที่ในการก่อสร้าง การปกครองอย่างล้นมือแล้วก็ตาม ท่านก็ยังแบ่งเวลาเป็นครูสอนนักธรรมและบาลีตลอดมา ไม่ทอดทิ้ง จนมีลูกศิษย์หลายต่อหลายรุ่น ที่สำเร็จเป็นมหาเปรียญ และเป็นนักธรรม ที่ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากมาย ที่เป็นบรรพชิตอยู่ในขณะนี้ ก็ดำรงค์ตำแหน่ง-เป็นเจ้าอาวาส-รองเจ้าอาวาส-เจ้าคณะตำบล-เจ้าคณะอำเภอ-และเป็นเจ้าคณะจังหวัดอยู่ในปัจจุบันก็หลายรูป ดังปรากฏเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่คณะศิษย์ของท่าน นอกจากนั้นผู้ที่เป็นฆราวาส ลาสิขาบทออกไป ก็เป็นใหญ่เป็นโต-เป็นข้าราชการ-พ่อค้า-ตำรวจ ทหารก็มีเป็นจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานการศึกษาของท่านทั้งสิ้นเมื่อท่านได้ย้ายมารับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดคลองตันแล้ว ท่านก็ได้เริ่มสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดคลองตันอย่างมากมาย เช่นสิ่งก่อสร้างอันเป็นถาวรวัตถุ และการจัดระเบียบวินัยในการปฏิบัติ ของพระภิกษุสามเณร ภายในวัด และการจัดระเบียบการปฏิบัติของประชาชนต่อวัด ซึ่งท่านได้สร้างควบคู่กันไปด้วย นอกจากนั้น ท่านยังได้สร้างคนในตำบลคลองตัน ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี จนเป็นที่รัก ที่เคารพและเทิดทูนประดุจเทพเจ้าที่อยู่เหนือจิตใจของชาวตำบลคลองตันฉะนั้นกาลเวลาผ่านพ้นไปโดยลำดับ ชื่อเสียง ของพระเทพสาครมุนี (หลวงปู่แก้ว)ก็แผ่กระจายไปทั่วทุกสารทิศ เป็นที่เลืองลือ ไปทั่วในถิ่นต่างๆ ทั้งที่อยู่ในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียงทำให้คนได้รู้จักวัดคลองตันมากขึ้นทุกขณะ จนความเจริญรุ่งเรืองของวัดคลองตันเจริญถึงขีดสุด พร้อมทั้งชื่อเสียงของพระเทพสาครมุนี (หลวงปู่แก้ว) ก็มีชื่อเสียงถึงขีดสุดเช่นกัน เพียงระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งวัดคลองตันเพียง ๙ ปีเศษเท่านั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปในทางดีอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะความเป็นพระนักพัฒนาอย่างท่านไปอยู่เพียงไม่นานนักปัจฉิมกาลพระเทพสาครมุนี(หลวงปู่แก้ว) ได้อุทิศชีวิตและร่างกายให้กับพระศาสนาและสังคมอย่างไม่หยุดยั้ง ประกอบกับท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยว-มั่นคง-หนักแน่นตลอดชีวิตของท่านไม่เคยหยุดนิ่งที่จะสร้างความดี เพราะความรับผิดชอบในหน้าที่ การงานแม้บางครั้งจะเหน็ดเหนื่อยอย่างไรก็ตาม ตลอดชีวิตของท่านตั้งแต่บวช จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๔ หลวงปู่ไม่เคยป่วยมากถึงกับต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเลย นอกจากบางครั้งเป็นไข้หวัด เรียกหมอมาฉีดยา ท่านก็หายเป็นปกติทุกครั้ง ไม่ถึงกับต้องนำส่งโรงพยาบาลประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๔หลวงปู่ได้เดินพลาดบันได เท้าแพลง เดินไม่ได้หลายเดือน ถึงกระนั้นท่านก็ยังทำกิจวัตรของท่าน โดยการใช้รถเข็น เพื่อปฏิบัติภารกิจของท่านปกติ เพราะความเป็นผู้มีขันติ และความเป็นผู้มีอุตสาหะวิริยะ อันแรงกล้า ท่านก็ได้ทำหน้าที่ทั้งในด้านการปกครอง ด้านสังคม และในตำแหน่งหน้าที่ที่ท่านรับผิดชอบอยู่อย่างไม่ยอมหยุดต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ หลวงปู่เริ่มป่วยบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นไข้หวัด และอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ และไม่ค่อยแข็งแรง คณะกรรมการและศิษยานุศิษย์ ต้องการที่จะให้ท่านได้ผักผ่อนให้มาก จึงได้นำท่านไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท กรุงเทพมหานครเป็นเวลานับเดือน เมื่อท่านหายเป็นปกติแล้ว จึงได้นำกลับมาผักผ่อนที่วัดตามเดิม โดยให้หมอมาตรวจเช็คร่างกายอยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งให้ศิษยานุศิษย์คอยเอาใจใส่ดูแลท่านอย่างใกล้ชิด ถึงกระนั้น อาการป่วยของหลวงปู่ก็มีบ่อยขึ้น เนื่องจากท่านไม่ยอมทิ้งภาระกิจเกี่ยวกับพระศาสนา โดยท่านจะพูดอย่างเด็ดเดี่ยวว่าแม้วิญญาณจะทิ้งร่างกายไปก็ตามทีเถอะแต่เมื่อชีวิตยังมีอยู่ จะไม่ยอมทิ้งกิจพระศาสนาโดยเด็ดขาดต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงปู่ได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท อีกหลายครั้ง ส่วนใหญ่ก็เป็นโรคเก่า คือ อ่อนเพลีย-วิงเวียนศีรษะ-และไข้หวัด แต่เมื่อได้เข้าพักรักษาตัวไม่นานท่านก็หายเป็นปกติทุกครั้งจนกระทั่ง เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๖ อาการป่วยของหลวงปู่ก็เริ่มขึ้นอีกเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. หลวงปู่ได้เรียก พระครูวินัยธรพิเชษฐ ธมมธโร ซึ่งเป็นเลขานุการฯของท่านเข้าไปหา และบอกว่า หลวงปู่ไปโรงพยาบาลให้พระครูวินัยธร ไปเป็นเพื่อนพร้อมทั้งได้เรียก คุณวิเชียร กรีวงษ์ ซึ่งเป็นไวยาวัจจกร พร้อมทั้งคุณประเสริฐ ทองสมุทร และคุณทองหล่อ เกตุแก้ว ได้นำเอารถมารับหลวงปู่ไปยังโรงพยาบาลพญาไทในเย็นวันนั้น เมื่อหมอได้ตรวจเช็คเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ก็กลับวัด เพราะเป็นเทศกาลในการเข้าพรรษาแต่หมอเห็นว่า อาการของหลวงปู่ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ จึงขอร้องให้หลวงปู่อยู่พักที่โรงพยาบาลสักระยะหนึ่งก่อน แต่หลวงปู่ท่านก็ต้องการกลับวัด บอกว่า ท่านไม่เป็นอะไรมากนัก พอที่จะกลับวัดได้ คณะกรรมการที่ติดตามหลวงปู่ไปที่โรงพยาบาลและหมอ ต่างก็อ้อนวอนให้หลวงปู่อยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสักระยะหนึ่งก่อน ผลสุดท้ายหลวงปู่จึงจำยอมอยู่ เพราะความเกรงใจหมอและผู้ที่ติดตามหลวงปู่ไป หลวงปู่ต้องเข้าพักรักษาตัวในห้อง ไอ.ซี.ยู. เป็นเวลา ๑ คืน เนื่องจากท่านเป็นคนมีจิตใจเด็ดเดี่ยวใจท่านคิดว่าตัวท่านเองไม่เป็นอะไรมากนัก แต่หมอรู้อาการของคนไข้ได้ดีกว่า จึงพยายามประวิงเวลาให้หลวงปู่อยู่ที่โรงพยาบาลให้ได้ เมื่อเวลาผ่านไปได้ ๑ วัน อาการของหลวงปู่ก็ดีขึ้น และดีขึ้นโดยลำดับวันที่ ๖ ก.ย. ๒๖ อาการของหลวงปู่ก็เริ่มดีขึ้นโดยลำดับ ท่านก็บอกหมอและศิษย์ที่ไปเฝ้าว่า ท่านต้องการกลับวัด หมอและพยาบาลต้องเข้าไปขอร้องให้หลวงปู่อยู่อีกสัก ๒-๓ วัน จึงจะกลับได้วันที่ ๗ ก.ย. ๒๖ อาการของหลวงปู่ก็เริ่มดีขึ้นโดยลำดับ จนสามารถพูดคุยกับผู้ที่ไปเยี่ยมเยียนได้เป็นอย่างดี และจำผู้ที่ไปเยี่ยมได้ทุกคน ซึ่งเป็นอาการที่น่าเบาใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไปเยี่ยมท่านวันที่ ๘ ก.ย. ๒๖ อาการของหลวงปู่ก็นับว่าเกือบจะเป็นปกติแล้ว และตั้งใจว่าจะกลับไปวัดได้ในวันรุ่งขึ้น และหมอก็อนุญาตให้กลับได้แล้ว เพราะเห็นอาการไม่น่าวิตกเหมือนเมื่อมาใหม่ๆ ซึ่งตลอดทั้งวัน คณะศิษย์ และท่านที่เคารพนับถือ ต่างก็ทยอยกันไปเยี่ยมท่านเป็นจำนวนมาก แต่ละคน เมื่อเห็นอาการของหลวงปู่แล้ว ต่างก็เบาใจกันไปตามๆ กัน เพราะคิดว่าอย่างไรเสีย หลวงปู่ก็คงจะหาย และกลับวัดได้ตามที่ท่านต้องการ จนกระทั่งเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. พระมหาสมบูรณ์ ปญญาวุโธ และคณะที่ไปเยี่ยมหลวงปู่ตั้งแต่ตอนเย็น วันนั้น ต่างพูดคุยกันในห้องพักนั้นอย่างปกติ โดยคุยกับหลวงปู่บ้าง คุยกันเองบ้าง เพราะดีใจที่หลวงปู่หายดีแล้ว หลวงปู่จึงเตือนว่า ให้กลับวัดได้แล้ว ไม่ต้องห่วงหลวงปู่ เพราะดึกมากแล้วเดี๋ยวจะขาดพรรษา พระมหาสมบูรณ์และคณะจึงกลับมาวัดเป็นคณะสุดท้ายของคืนวันนั้น โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับหลวงปู่และกลับวัดด้วยอาการที่ดีใจและเบาใจ โดยเหลือ พระประจวบ สุนทรญาโณ ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐาก อยู่เฝ้าไว้เพียงรูปเดียว และพระประจวบ ก็คอยเฝ้าดูแลหลวงปู่อย่างใกล้ชิดเวลาประมาณ ๒๔.๐๐ น. หลวงปู่ได้ตื่นขึ้นเพื่อเข้าห้องน้ำ พระประจวบก็ได้ประคองให้หลวงปู่เข้าห้องน้ำ เมื่อเสร็จกิจแล้ว ก็กลับมานอนตามปกติ หลวงปู่ก็นอนหลับเวลา ๐๓.๓๐ น. หลวงปู่ได้ตื่นขึ้น และเข้าห้องน้ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วหลวงปู่ก็นั่งอยู่บนเตียง และบอกให้พระประจวบหยิบบุหรี่ใบจากให้ท่านสูบ พระประจวบก็มวนบุหรี่ใบจากให้ท่านและจุดให้ท่านสูบ ท่านก็นอนสูบบุหรี่อย่างใจเย็น และอารมณ์ดีเมื่อบุหรี่ดับ พระประจวบก็คอยจุดให้ท่าน เมื่อบุหรี่จวนจะหมดมวนท่านก็วาไว้ที่เขี่ย แล้วท่านก็ถามพระประจวบว่าเวลาเท่าไรแล้วพระประจวบตอบว่า จวนตี ๔ แล้ว ท่านก็พยักหน้ารับรู้แล้วบอกพระประจวบว่า ให้ถอยออกไปก่อน บอกว่า ให้ไปนอนต่อเถอะยังดึกอยู่ พระประจวบก็คิดว่าหลวงปู่ต้องการความสงบ เพื่อสวดมนต์ ภาวนา เพราะตามปกติท่านได้ทำอยู่เป็นประจำ แต่ก็นึกเฉลียวใจว่า ตามปกติเวลาเมื่อตื่นตี ๔ หลวงปู่ไม่เคยบอกให้นอนเลย เพราะใกล้สว่างแล้ว พระประจวบ ซึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากก็กลับมานอนอ่านหนังสือพิมพ์บ้าง เดินไปเดินมาบ้าง จนเวลา ๐๕.๐๐ น. เห็นหลวงปู่นอนหลับตา ก็เดินเขาไปจับดู เหมือนกับว่าท่านกำลังหลับ น้ำเกลือที่ให้ยังหยดอยู่ปกติ พระประจวบคิดว่าหลวงปู่นอนหลับจึงไม่รบกวนท่าน สักพักหนึ่งพระประจวบจึงฉุกคิดว่า ปกติหลวงปู่ท่านเป็นคนตื่นง่ายเมื่อถูกตัวท่านแล้วท่านจะต้องรู้ตัว จึงรีบเข้าไปจับดูและเอานิ้วไปแตะที่จมูกท่าน ปรากฏว่าท่านไม่หายใจเสียแล้ว ด้วยความตกใจ รีบไปเรียกนางพยาบาลโดยเร็วเมื่อนางพยาบาลมาตรวจดู เห็นหลวงปู่ตัวยังอุ่นอยู่ จึงรีบปั้มหัวใจเพื่อช่วยเหลือให้ท่านได้หายใจอีกครั้ง แต่….สายไปเสียแล้ว หลวงปู่สิ้นใจโดยสงบ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยแต่มันก็เป็นไปแล้วจริงๆ…(เหตุการณ์นี้จากการจดบันทึก ของพระประจวบ สุนทรญาโณพระผู้อุปัฎฐากใกล้ชิดจดไว้)วันที่ ๙ ก.ย. ๒๖ ทางวัดสุทธิวาตรวราราม พระภิกษุ สามเณร ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เมื่อพระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตตอนเช้า ประชาชน และศิษยานุศิษย์ต่างสอบถามถึงอาการป่วยของหลวงปู่กันอย่างไม่ขาดสาย เมื่อได้รับคำตอบว่า หลวงปู่หายดีแล้ว ต่างก็สบายใจไปตามๆ กันเพราะคิดว่าหลวงปู่ท่านจะกลับวัดแล้วเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. ในขณะที่พระภิกษุและสามเณรต่างเข้าที่เพื่อเตรียมฉันภัตตาหารเช้า โดยที่ยังไม่ได้ฉัน เพียงเริ่มรับประเคนและตักข้าวเตรียมจะฉันนั้น เสียงกริ่งโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ผู้ที่ไปรับโทรศัพท์ ก็วิ่งหน้าตื่นมาส่งข่าวให้พระภิกษุและสามเณรว่าหลวงปู่เสียแล้วต่างคนต่างตกตะลึง งงงัน ในข่าวร้ายที่ได้รับมาอย่างชนิดที่คาดไม่ถึง ต่างลุกขึ้นจากวงฉันข้าว แล้วรีบรุดเดินทางเข้าไปยังโรงพยาบาล เพื่อให้รู้แน่ชัดว่า หลวงปู่เสียจริงหรือเปล่า เมื่อทุกคนไปถึงโรงพยาบาล สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาก็คือ หลวงปู่นอนสงบนิ่งอยู่บนเตียงอย่างสงบ เหมือนกับว่าหลวงปู่นอนหลับอยู่อย่างไรอย่างนั้น และคงจะนอนอยู่อย่างนั้นจนชั่วนิจนิรันดร์หลวงปู่กลับมาวัดจริง ตามความประสงค์ของท่าน แต่ท่านกลับมาเพียงร่างกายเท่านั้น ส่วนวิญญาณของท่าน ไปสู่สุคติโลกสวรรค์แล้วโดยความสงบสุข ปล่อยให้ลูกศิษย์ทั้งหลาย ต้องเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวง ถึงแม้เป็นกฏธรรมชาติก็จริงอยู่ แต่ ใครเล่าจะอดใจได้ ในเมื่อ สิ่งที่รัก-สิ่งที่เคารพ-บูชาสูงสุดได้จากไปอย่างที่ไม่ทันจะคาดคิดอย่างนี้หลวงปู่จากไปเมื่อตอนเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖ เวลา ๐๔.๔๕ น. ท่ามกลางความอาลัยของศิษยานุศิษย์ และผู้ที่เคารพทั่วไปรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างวัตถุมงคลของพระเทพสาครมุนี (หลวงปู่แก้ว)
รุ่นที่ ๑ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ เพื่อเป็นอนุสรณ์เนื่องในงานครบรอบสมาคมศิษย์รัตนมุนี
และเป็นวันเกิดของพระเดชพระคุณราชสาครมุนี (ยศในสมัยนั้น) เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๐๒ ผู้ที่เป็นคนริเริ่มสร้างเหรียญรุ่นนี้คือ พระสาครธรรมคณี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร รูปปัจจุบัน (สมัยนั้น เป็นพระครูโอภาสธรรมสาคร) เป็นผู้ออกแบบ รูปแบบ และเป็นผู้จัดทำทั้งหมด ลักษณะของเหรียญ สร้างเป็นเหรียญกลมรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่แก้ว เป็นภาพนูนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดสังฆาฏิ ด้านล่างเหรียญจารึกอักษรว่า พระราชสาครมุนีส่วนด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ อุณาโลม ตัวเดียว สำหรับเนื้อของเหรียญรุ่นนี้ ทำด้วยเงินประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ สีขาว ทำเป็น ๒ แบบคือ อย่างห่วง และแบบเข็มกลัดโดยเฉพาะอย่างเข็มกลัดนั้น ทำแจกเฉพาะกรรมการที่จัดงานเท่านั้นซึ่งมีประมาณ ๒๐๐ เหรียญ ชุบทอง ซึ่งจำนวนเหรียญที่ทำให้รุ่นนี้ ทั้งห่วง และเข็มกลัดรวมกันได้ ๒๕๐๒ เหรียญเท่า พ.ศ. ที่ออกเท่านั้น จึงเป็นเหรียญจำนวนน้อยมาก และนับเป็นเหรียญที่หายากที่สุดในยุคปัจจุบัน เพราะมีจำนวนจำกัด
รุ่นที่ ๒ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ เนื่องในงานวันเกิดของหลวงปู่
แก้ว ที่มีอายุครบ ๕ รอบ คือ อายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ ผู้ที่ริเริ่มทำเหรียญรุ่นนี้ก็คือ พระสาครธรรคณี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้ออกแบบ และจัดทำ
ลักษณะของเหรียญรุ่นนี้ ทำเหมือนกับรุ่น ๑ ทุกประการคือ เป็นเหรียญกลมรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ รูปนูนครึ่งองค์ ศีรษะโตกว่ารุ่นแรกเล็กน้อย ด้านล่างของรูปเขียนอักษรว่าพระราชสาครมุนีส่วนด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ อุณาโลม เขียนอักษรด้านบนว่าฉลองชนมายุครบรอบ ๖๐ ปีและเหรียญรุ่นนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๐๖ จำวนวนของเหรียญที่ทำในรุ่นนี้ประมาณ ๕,๐๐๐ เหรียญ
รุ่นที่ ๒เสริม ทำขึ้นใน พ.ศ. เดียวกัน หลังจากจัดงานวันเกิดของหลวงปู่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าเหรียญที่ทำมานั้น หมด พวกแม่ครัว และคนงานของวัดไม่ได้รับเหรียญนี้ ต่างก็อยากจะได้ไว้เป็นอนุสรณ์บ้าง และผู้ที่ยังไม่ได้เหรียญอีกเป็นจำนวนมาก ต่างเรียกร้องต้องการเหรียญ พระครูสุทธิธรรมสาคร เจ้าอาวาสวัดสุทธิวาตวราราม รูปปัจจุบัน (สมัยนั้นเป็นพระครูสังฆรักษ์) จึงได้ไปขออนุญาตหลวงปู่ขอพิมพ์เพิ่มเติม เพื่อนำมาแจกพวกคนงานวัด และแม่ครัว เมื่อไปติดต่อจากร้านเก่าที่พิมพ์นั้น เกิดมีปัญหาเรื่องราคา พระครูสิทธิฯ จึงได้ไปพิมพ์ร้านใหม่ โดยเอาแบบอย่างที่พิมพ์ครั้งแรกไว้ให้ดู ปรากฏว่า ผลที่ออกมานั้น รูปลักษณะ รูปเหรียญ และเนื้อของเหรียญ เหมือนกับที่พิมพ์ครั้งแรกทุกอย่าง จึงมองเห็นเป็นคนละรุ่นกัน ส่วนอักษรทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เหมือนกันทุกอย่าง แต่ที่สังเกตเห็นได้ชัดว่าต่างกันนั้นคือ พิมพ์ครั้งแรก ใบหน้าหนุ่ม ส่วนพิมพ์เสริมใหม่นี้ หน้าแก่กว่าเท่านั้น
รุ่นที่ ๓ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื่องในงานเสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินต้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๐๘ ผู้จัดสร้างเหรียญรุ่นนี้คือ พระครูสุทธิธรรมสาคร เจ้าอาวาสวัดสุทธิวาตวราราม รูปปัจจุบัน เป็นผู้จัดทำ และออกแบบ ลักษณะของเหรียญทำเป็นเหรียญกลม เท่าเหรียญ ๕๐ สตางค์ เป็นเนื้อทองแดงชุบโครเมี่ยม ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่เฉพาะใบหน้า ศรีษะโต ด้านบนศรีษะมีอักษรจารึกว่า ในงานทอดพระกฐิน ๐๘และด้านล่างจารึกว่าพระราชสาครมุนีส่วนด้านหลังเป็นยันต์ อุณาโลมอย่างเดียวมีแหนบติดด้านขวางและเป็นแหนบต้น สำหรับเหรียญกฐินต้นนี้ อย่างกลมทำเป็นแหนบอย่างเดียวไม่มีห่วงห้อยแต่อย่างใด
รุ่นที่ ๓ เสริม เนื่องจากเหรียญรุ่นนี้ ทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนที่มาในงานพระกฐินต้นเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายเมื่องานมีคนมาเป็นจำนวนมากมาย เหรียญที่นำมานั้น จึงแจกไม่พอ โดยเฉพาะ พวกตำรวจ ทหาร ที่มาอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินีนาถ ไม่ได้เหรียญไป พระครูสุทธิฯ จึงได้ไปสั่งทำเพิ่มขึ้นมาอีก แต่เห็นว่า เหรียญที่ออกไปนั้นเป็นเหรียญแหนบทั้งหมด ท่านจึงต้องการที่จะเอาเหรียญอย่างห่วงบ้าง จึงได้เอาแบบอย่างของเหรียญรุ่นที่ ๑ พิมพ์เมื่อ ๐๒ เอาไปทำเป็นแบบ เพราะฉะนั้น เมื่อเหรียญออกมาจึงมีรูปแบบคล้ายรุ่นหนึ่งมาก และข้อความที่จารึกไว้ที่เหรียญทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง ก็เหมือนรุ่น ๑ ทุกอย่าง แต่มีข้อสังเกตชัดคือ เหรียญรุ่นเสริมกฐินนี้ ศรีษะจะใหญ่กว่ารุ่นที่ ๑ เล็กน้อย เพราะเอารูปแบบของรุ่น ๑ ไปทำ นายช่างเลยเข้าใจว่า ให้ทำให้เหมือนรูปแบบที่ให้ไว้เป็นตัวอย่างเมื่อเหรียญออกมาจึงมีรูปร่างเหมือนรุ่น ๑ สำหรับเหรียญรุ่นเสริมกฐินนี้นับเป็นเหรียญที่หายากที่สุด เพราะมีจำนวนน้อย ปรากฏว่าแจกออกเพียงประมาณ ๔๐๐ ถึง ๕๐๐ เหรียญเท่านั้น ที่เหลือนอกนั้น เอาไปบรรจุไว้ในกรุแห่งหนึ่งหมด
รุ่นที่ ๔ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อเป็นที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาฝั่งลูกนิมิตพระอุโบสถหลังใหม่ รูปแบบและลักษณะของเหรียญรุ่นนี้ จัดทำโดย พระครูสุทธิธรรมสาคร เหรียญรุ่นนี้ทำแบบกลม เท่าเหรียญ ๕๐ สตางค์ เหมือนรุ่นกฐินต้น แต่รุ่นนี้ทำเป็น ๒ แบบ คือ แบบห่วงห้อย และแบบแหนบด้านหลัง แต่เป็นแบบโปร่ง ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์หน้านูนเฉพาะศรีษะ แลมีเส้นรอบวงกลมตามรูปเหรียญ ด้านบนศรีษะมีอักษรว่า พระราชสาครมุนีด้านล่างมีอักษรว่าในงานผูกพัทธสีมาวัดช่องลม ๐๙ส่วนด้านหลังเป็นยันต์อุณาโลมอย่างเดียว เนื้อเหรียญนั้นทำเป็น ๓ อย่าง คือ ทองคำแท้-นาค-นิเกิลขาว และออกแบบเหรียญเป็นกลมอย่างเดียว
รุ่นที่ ๕ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในงานฉลองสมณศักดิ์ พระเทพสาครมุนี เนื่องจากหลวงปู่ได้เลื่อนสมณศักดิ์จากพระราชาคณะชั้นราช เป็นพระราชาคณะเทพที่พระเทพสาครมุนีผู้จัดทำเหรียญรุ่นนี้ คือ พระครูสุทธิธรรมสาครการทำเหรียญรุ่นนี้ ทำเป็นแบบพัดยศชั้นเทพ ยอดแหลม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการฉลองสมณศักดิ์ชั้นเทพ ลักษณะการทำ ด้านหน้าตรงกลางเหรียญ เป็นรูปหลวงปู่หน้านูน มีเส้นล้อมรอบตามรูปพัดยศ ด้านบนศีรษะมีอักษรว่า ที่ระลึกฉลองสมณศักดิ์และด้านล่างเขียนว่าพระเทพสาครมุนีด้านหลังเป็นยันต์อุณาโลม และเหรียญรุ่นนี้ทำเป็น ๓ แบบคือห่วงแขวน-แหนบเสียบ-และหมุดสำหรับเสียบเนคไท และเนื้อของเหรียญทำเป็น ทองคำ-เงิน-ทองแดง-แสตนเลสส์
รุ่นที่ ๖ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดหลวงปู่พระเทพสาครมุนีเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๒ ผู้ทำคือ พระครูปลัดสุพัฒน์ ลักษณะของรูปเหรียญรุ่นนี้ ทำเป็นแบบพัดยศเหมือนรุ่นก่อน แต่ย่อส่วนให้เล็กลงกว่าเก่า ให้มีขนาดกลาง-และขนาดเล็ก สำหรับเหรียญรูปพัดยศนั้น ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์นูน รูปเหรียญเป็นลวดลายพัดยศ ด้านล่างของเหรียญมีอักษรว่า พระเทพสาครมุนีส่วนด้านหลังมีอักษรว่าวัดสุทธิวาตวราราม ๒๕ ธ.ค. ๑๒
นอกจากเหรียญพัดยศแล้ว ได้ทำเหรียญกลม เท่าเหรียญ ๕๐ สตางค์อีออย่างหนึ่งด้วย โดยทำเป็นแบบห่วงแขวนอย่างเดียว
รูปพัดยศขนาดกลาง ทำเป็น ๒ แบบคือ แบบห่วงแขวน และแหนบเสียบ ส่วนขนาดเล็ก ทำเป็น ห่วง-และหมุด ส่วนเนื้อของเหรียญรุ่นนี้ทั้ง ๒ แบบ มีเนื้อ แสตนเลสส์ และเนื้อทองคำแท้
รุ่นที่ ๗ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื่องในงานวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ พระเทพสาครมุนี เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๗ ผู้ที่ริเริ่มทำเหรียญรุ่นนี้ คือคุณเกษม สายแสง ผู้ออกแบบและควบคุมแบบคือ พระมหาสมบูรณ์ ปญญาวุโธ ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการทำเหรียญให้สวยงาน และได้มาตรฐานขึ้น โดยให้กองกษาปน์ กรมธนารักษ์ เป็นผู้จัดทำ โดยใช้วิธีการทำเหรียญเหมือนกันกับการทำเหรียญบาททั่วๆไป สำหรับลักษณะของเหรียญรุ่นนี้ ทำเป็นแบบรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ พระเทพสาครมุนีภาพนูนครึ่งองค์หน้าตรง ด้านบนศีรษะมีอักษรเขียนเป็นภาษาบาลีว่า สทา ภทรานิ ปสสตุ” (ซึ่งแปลว่า จงประสพแต่ความเจริญทุกเมื่อ) ส่วนด้านล่าง มีอักษรว่าพระเทพสาครมุนี” (หลวงพ่อแก้ว) วัดช่องลมด้านหลังของเหรียญ เขียนเป็นภาษาขอม ๔ ตัว มียันต์อุณาโลมอยู่ข้างบนอักษรขอมอีกทีหนึ่ง ด้านบนมีอักษรว่า อายุครบ ๗๑ ปีบริบูรณ์ด้านล่างมีอักษรว่า ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๗เหรียญรุ่นนี้ ทำเป็นหลายเนื้อ คือเนื้อทองคำ-เนื้อเงิน-นวโลหะ-ทองแดงรมดำ-เนื้อตะกั่วถ้ำชา สำหรับเนื้อตะกั่วถ้ำชานั้น เป็นตะกั่วถ้ำชา สมัยทวาราวดี ซึ่งเป็นของหายาก
สำหรับเหรียญรุ่นนี้ เป็นเหรียญที่มีความคมชัด และทำได้อย่างมาตรฐาน นับเป็นเหรียญที่มีคนนิยมสูงรุ่นหนึ่ง ในจำนวนเหรียญทั้งหมด
นอกเหนือจากเหรียญที่ทำเป็นที่ระลึกวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่แล้วทางวัดยังได้ทำโล่ ขึ้นอีกชนิดหนึ่ง ลักษณะของโล่นั้น ทำเรียนแบบเหรียญทุกอย่าง แต่มีความใหญ่ เพื่อให้ไว้บูชา โดยรูปด้านหน้า ขยายใหญ่ให้มีความชัดขึ้น เป็นเนื้อทองแดง รูปไข่
รุ่นที่ ๘ ทำเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นอนุสรณ์คล้ายวันเกิดของหลวงปู่ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม รูปแบบของเหรียญรุ่นนี้ ทำเหมือนรุ่น พ.ศ. ๒๕๑๗ ทุกอย่าง ผิดกันแต่ตัวอักษรด้านหลังของเหรียญเท่านั้น โดยด้านหลัง มีอักษรเขียนว่า อายุครบ ๗๒ บริบูรณ์ด้านล่างเขียนว่า ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๘ส่วนด้านหน้าเหมือนกันหมด สำหรับเหรียญรุ่นนี้ทำเป็นเนื้อเงิน-บรอนซ์ทองแบบเหรียญ ๕๐ สตางค์ เหรียญทองแดงรมดำ ทำที่กองกษาปน์ เช่น เดียวกัน คุณเกษม สายแสง เป็นผู้จัดทำ โดยยึดแบบเดิม
รุ่นที่ ๙ ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อเป็นที่ระลึกในงานคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๘ โดยทำเป็นรูปพัดยศ พระราชาคณะชั้นเทพยอดแหลม โดยนำมาปรับปรุงให้มีรูปลักษณ์ที่คล้ายกับพัดยศมากที่สุด และมีความสวยงามกว่าเก่า ผู้ออกแบบคือพระมหาสมบูรณ์ ปญญาโธ ลักษณะเหรียญด้านหน้า เป็นรูปครึ่งองค์ นูน อยู่ตรงกลางพัดยศ ด้านล่างมีอักษรว่า พระเทพสาครมุนี (แก้ว) ส่วนด้านหลัง เขียนเป็นยันต์ อุณาโลม ล้อมรอบด้วยตัวหนังสือที่เขียนว่า วัดสุทธิวาตวราราม (ช่องลม) ๒๕ ธ.ค. ๑๙ส่วนรูปพัดทำเป็นลวดลายสวยงามมาก โดยเลียนแบบรูปพัดจริง ทุกอย่าง สำหรับเนื้อเหรียญรุ่นนี้ ทำเป็น ๓ เนื้อคือ เนื้อเหรียญบาท-บรอนซ์ทองแบบเหรียญ ๕๐ สตางค์-ทองแดง โดยทำเป็นห่วงห้อยอย่างเดียว
รุ่นที่ ๑๐ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ รุ่นนี้สร้างขึ้นเพื่อหาทุนสร้างโรงเรียนปริยัติธรรม รูปแบบการสร้างเป็นเหรียญกลมรูปไข่ ด้านหน้า เป็นรูปหลวงปู่นูนครึ่งองค์เปลี่ยนจากหน้าตรงเป็นด้านเอียงขวาด้านข้าง ด้านบนมีอักษรเขียนเป็นภาษาบาลีว่า สทา ภทรานิ ปสสตุด้านล่างเขียนว่าพระเทพสาครมุนี (หลวงพ่อแก้ว) วัดช่องลมส่วนด้านหลังมียันต์ อุณาโลม และภาษาขอม ๔ ตัว ด้านบนมีอักษรว่า รุ่นพิเศษ ๒๕๒๐ด้านล่าง มีอักษรว่า สร้าง ร.ร. ปริยัติธรรมและสำหรับเหรียญรุ่นนี้ ทำที่กองกษาปน์เช่นกัน และทำเป็นหลายเนื้อ คือ ทองคำ-เงิน-นาค-นวโลหะ สำหรับเหรียญรุ่นนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นทุนในการสร้างโรงเรียนปริยัติธรรม ราคา ๖ ล้านบาทโดยเฉพาะจัดทำโดย คุณเกษม สายแสง ผู้ออกแบบคือ พระมหาสมบูรณ์ ปญญาวุโธ
รุ่นที่ ๑๑ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นอนุสรณ์เนื่องในวันคล้ายวันเกิดหลวงปู่ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ เป็นอนุสรณ์เหรียญรุ่นนี้ ทำเป็นแบบเหรียญกลมขนาด เหรียญ ๕๐ สตางค์ และ ๒๕ สตางค์ เป็นห่วงห้อย ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์หน้าตรง ด้านบนศีรษะเขียนอักษรว่าสทา ภทรานิ ปสสตุด้านล่างจารึกว่า พระเทพสาคามุนี (หลวงปู่แก้ววัดช่องลมด้านหลังมียันต์อุณาโลม มีอักษรจารึกว่า อายุครบ ๗๕ บริบูรณ์ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ทำเป็น ๔ เนื้อคือ ทองคำ-เงิน-นวโลหะ-ทองแดง และมีทั้ง ๒ ขนาดคือ ทั้งเล็กและใหญ่เพราะเมื่อพิมพ์ออกมาแล้ว จะดูชัดและสวยงามขึ้น เพราะฉะนั้น รูปลักษณะของรุ่น ๒ นี้จึงเหมือนกับรุ่น ๑ ทุกอย่าง แต่มีที่สังเกตุอยู่ด้านหลังคือ คำว่า แก้วสุทธินั้น จะมีเส้นล้อมรอบตัวหนังสือไว้เท่านั้น และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ องค์ของสมเด็จรุ่น ๑ นี้จะนูนกว่ารุ่นแรก
ส่วนสมเด็จเล็กนั้น รูปลักษณะเหมือนกันกับรุ่นใหญ่ทุกอย่าง เพียงแต่ย่อรูปให้เล็กลงเท่านั้น ส่วนตัวหนังสือ แก้วสุทธิไม่มีเส้นล้อมรอบเหมือนรุ่นใหญ่ และพระผงรุ่นเล็กนี้ออกเพียงครั้งเดียวไม่มีพิมพ์เสริม หรือพิมพ์เพิ่มเติมแต่อย่างใด เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วได้นำแท่นพิมพ์และแม่พิมพ์บรรจุไว้ในกรุ ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถวัดสุทธิวาตวราราม
รูปหล่อเหมือนหลวงปู่แก้ว
สำหรับรูปหล่อเหมือนหลวงปู่แก้วนี้ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อเป็นอนุสรณ์คล้ายวันเกิดของหลวงปู่ พระเทพสาครมุนี ผู้ที่ริเริ่มสร้างรูปหล่อเหมือนตัวจริงนี้ คือ จ.อ. บันเทิง เอมเจริญ เป็นผู้ออกแบบและรูปลักษณะ โดยให้ช่างเกษม มงคลเจริญ เป็นผู้ปั้นแบบ และหล่อออกมาเป็นรูปของหลวงปู่ ซึ่งนับเป็นรูปหล่อที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวจริงของหลวงปู่มาก และเป็นรูปหล่อที่ออกรุ่นเดียวสมัยเมื่อหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ลักษณะของรูปหล่อนั้น เป็นแบบนั่งขัดสมาธิลอยตัว ที่ฐานรูปหล่อนั้น จารึกอักษรว่า หลวงปู่แก้วด้านข้าง ๒ ข้างมีอักษรจารึกว่า วัดช่องลม สมุทรสาคร
เนื้อของรูปหล่อนั้น ทำด้วยเงิน-นวโลหะ นับเป็นวัตถุมงคลที่มีคนนิยมกันมากรุ่นหนึ่ง เพราะเป็นรูปหล่อแทนองค์จริงของหลวงปู่ คนนิยมเอาไปเลี่ยมแขวนใช้กันมาก
ปิดตามหาลาภ
สำหรับผงปิดตามหาลาภนั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และนับว่าเป็นวัตถุมงคลชิ้นสุดท้ายของหลวงปู่ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในวันคล้ายวันเกิด เมื่อวันที่ ๒๕ธันวาคม ๒๕๒๕ และเพื่อหาเงินสร้างเขื่อนหลังวัด มูลเหตุแห่งการสร้างพระผงปิดตารุ่นนี้ ก็เนื่องจากว่า หลังจากทำเขื่อนหลังวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องใช้เงินถึง ๖ ล้านบาท ทางวัดเป็นหนี้อยู่อีก ๑ ล้านบาท หลวงปู่จึงได้ปรึกษากับ คุณบันเทิง เอมเจริญ ถึงเรื่องนี้คุณบันเทิงจึงคิดสร้างพระผงปิดตาขึ้น เพราะในยุคนั้น คนนิยมพระปิดตากันมาก เพื่อนำเงินที่ได้จากการให้ศิษย์เช่าไปบูชา แล้วนำเงินมาใช้หนี้ คุณบันเทิงจึงได้เข้าปรึกษากับหลวงปู่เพื่อขออนุญาตสร้าง เมื่อหลวงปู่อนุญาต คุณบันเทิงจึงคิดทำแบบ และรูปลักษณะของพระผงปิดตานั้น จากนั้น ได้ให้นายช่างเกษม มงคลเจริญ ทำแบบให้แล้วนำเอาผงสมเด็จรุ่น ๑ รุ่น ๒ ที่ชำรุดแตกหัก มาบดให้ละเอียดใหม่ แล้วนำผงเกษรดอกไม้-ผงไม้นางพญางิ้วดำ-และผงอื่นๆ ที่เป็นมงคลมาผสมกันเข้า ตามวิธีการของการทำพระผงปิดตามหาลาภขั้นตอนในการทำพระผงนี้ ตั้งแต่การผสมผง-การพิมพ์ออกมาเป็นรูปองค์พระ ทางวัดจัดทำเองทั้งหมด จากคณะศิษย์ของหลวงปู่ โดยคณะของคุณบันเทิง และพระภิกษุสามเณรในวัดนี้ทั้งสิ้น
รูปลักษณะของพระผงปิดตานั้น ด้านหน้าองค์เป็นรูปพระสังกัจจายน์ นั่งขัดสมาธิเพชรมือทั้งสองปิดหน้า ด้านล่างมีผ้าทิพย์ห้อยลงมา ส่วนด้านหลังเป็นยันต์ อุณาโลม สำหรับพระผงปิดตารุ่นนี้นับเป็นวัตถุมงคลที่มีคนนิยมสูงสุด ในจำนวนวัตถุมงคลทั้งหมดเพราะเมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้วทางวัดได้เปิดให้คณะศิษย์ทั้งหลายได้เช่าบูชา เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๕ ปรากฏว่า ประชาชน และศิษยานุศิษย์พากันมาเช่าพระผงปิดตากันอย่างมากมาย จนกระทั่งพระปิดตานั้น หมดภายในวันเดียว ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งพระผงปิดตานั้น มีถึง ๓ หมื่นกว่าองค์ ส่วนผู้ที่มาในภายหลังก็ผิดหวังกันตามๆ ไปทำให้ทางวัดได้เงินใช้หนี้ค่าก่อสร้างเขื่อน จำนวน ๑ ล้านกว่าบาท แล้วยังมีเงินเหลืออีกเกือบล้านบาทหลวงปู่ได้พูดกับคณะศิษย์ทั้งหลายว่าปิดตารุ่นนี้ต้องเรียกว่า รุ่นปลดหนี้เพราะทำให้ทางวัด หมดนี้-หมดสิน-และไม่เป็นหนี้ใครอีกต่อไป ในขณะนี้ พระผงปิดตานี้ก็ยังเป็นที่นิยมสูง ในวงการพระทั่วๆไป และนับว่าจะมีแนวโน้มว่าจะนิยมกันมากขึ้นทุกขณะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น