วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ผ้ายังต์ มหาละลวย วัดอาวาสวัด

วิเศษนัก

ประวัติ หลวงปู่ชื่น วัดตาอี จ.บุรีรัมย์

ประวัติ หลวงปู่ชื่น วัดตาอี จ.บุรีรัมย์



         สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดกลียุคทั่วโลก ยิ่งประเทศเล็กประเทศน้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากข้าวยากหมากแพงแล้ว ประชาชนยังต้องรับกรรมหนักเพราะครอบครัวแตกสลายเนื่องจากความแร้นแค้นยากจนเป็นสาเหตุใหญ่
         ครอบครัวของ หลวงปู่ชื่น  ติคญาโณ ซึ่งเป็นชาวกัมพูชาก็ได้รับความรุนแรงของไฟสงครามเช่นเดียวกัน ทำให้ญาติพี่น้องของ หลวงปู่ชื่น ลับหายตายจากไปหลายคน  ซึ่งประเทศกัมพูชาขณะนั้นร้อนระอุสุด ๆ จนดูโหดร้ายไปทุกอย่าง  ทำให้ หลวงปู่ชื่น เกิดความเบื่อหน่ายจึงเดินธุดงค์เข้ามายังแผ่นดินไทยที่มีแต่ความสงบร่มเย็น
          หลวงปู่ชื่น นามเดิมชื่อ ชื่น นามสกุล ศรีโสด เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 11 ปีมะเมีย  ตรงกับปี พ.ศ. 2461  เกิดที่บ้านหินกอง อำเภอหินกอง จังหวัดสวายศรีโสภน  ประเทศกัมพูชา  โยมบิดาชื่อ นายชุบ โยมมารดาชื่อ พิม ศรีโสด  มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 7 คน คือ นายเรียว, นายโพธิ์, นายบุญ, นายเกิด, หลวงปู่ชื่น , นางยอด และนางยาว ครอบครัวมีอาชีพทำนาทำไร่ตามประสาชาวบ้านในชนบททั่วไปของชาวเขมร
          ชีวิตในวัยเยาว์ของ หลวงปู่ชื่น นิสัยท่านเป็นคนใจบุญ มีความสุขุมลุ่มลึก  และมีใจโอบอ้อมอารีชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง  ทั้งยังมีจิตใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ๆ  พออายุได้ 15 ปี ได้ขอบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งพ่อแม่ไม่ขัดข้อง ท่านจึงได้บวชเป็นสามเณร ณ วัดในหมู่บ้านเกิดของท่าน
          หลังจากบวชเณรได้ระยะหนึ่งพอถึงอายุ 20 ปี หลวงปู่ชื่น ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาโดยได้รับฉายาว่า ติคญาโณเมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว หลวงปู่ชื่น ได้ศึกษาบทสวดมนต์และบทสวดปาติโมกข์ ซึ่งใช้เวลาเพียงหนึ่งพรรษาก็สวดพระปาติโมกข์ได้แล้ว นับว่าหาพระที่เก่งเช่นนี้น้อยมาก เพราะการท่องบทพระปาติโมกข์พระบางรูปต้องใช้เวลานานนับ 5 ปี 10 ปี เนื่องจากเป็นบทสวดที่ยาวและยากที่สุดนั่นเอง
 “ หลวงปู่ชื่น สอบนักธรรมชั้นตรีได้ในพรรษาที่ 3 หลังจากนั้นท่านจึงออกเดินธุดงค์ปลงสังขารลัดเลาะไปตามป่าดงพงพี ข้ามเขาลงห้วยในดินแดนประเทศกัมพูชา ทำให้ท่านได้พบกับครูบาอาจารย์ที่เก่ง ๆ อยู่หลายรูป ซึ่งแต่ละอาจารย์ก็ได้ถ่ายทอดวิชาอาคมที่ตนมีอยู่ให้ หลวงปู่ชื่น จนหมดสิ้น โดยเฉพาะฤๅษีที่บำเพ็ญพรตอยู่กลางป่าดงดิบได้ถ่ายทอดวิชาขั้นสุดยอดให้ หลวงปู่ชื่น เพื่อให้นำไปช่วยเหลือศิษย์ต่อไปอีก
          หลวงปู่ชื่น เป็นพระเถระที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย  มีศีลจารวัตรที่งดงาม  ชอบบำเพ็ญกุศลเพื่อเสริมสร้างบารมีให้แก่กล้าขึ้น ท่านจะตื่นตั้งแต่ตีสามทำวัตรสวดมนต์  และช่วงค่ำก็เช่นกันท่านจะสวดมนต์มิได้ขาด (นอกจากจะมีกิจนิมนต์และป่วยเท่านั้น)
 “ หลวงปู่ชื่น ชอบทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมเป็นที่สุด และให้ความเป็นธรรมแก่ศิษยานุศิษย์เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์ทั้งหลายอีกด้วย ท่านจึงเป็นที่รักเคารพของศิษย์และประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมากในขณะนี้
 ได้อาจารย์เก่งวิชาทุกด้าน
  หลวงปู่ชื่น ติคญาโณ เป็นศิษย์สาย เขากุเลน ซึ่งเป็นศูนย์รวมเวทวิทยาอาคมชั้นสูง ที่เป็นฉบับแท้ดั้งเดิมของเขมรโบราณ อาจารย์องค์แรกของท่านคือ หลวงปู่เอื้อย และหลวงปู่ดี สุวรรณดี สองปรมาจารย์ผู้มีพลังจิตอันลึกล้ำ ทั้งยังมีอิทธิฤทธิ์-ปาฏิหาริย์มากมายเป็นที่เลื่องลือกันมากในประเทศกัมพูชา
          หลวงปู่ชื่น ได้มองเห็นกาลไกลไปข้างหน้าว่า พรเวทวิทยาคม ที่ท่านกำลังศึกษาอยู่นี้จะเป็นประโยชน์มากแก่การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทั้งยังได้ช่วยเหลือสงเคราะห์ญาติโยมและผู้เดือดร้อนต่าง ๆ ในอนาคตภายหน้าแน่นอน ท่านจึงมุมานะพยายามขยันศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมจนสุดความสามารถ ตลอดจนศึกษาการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่งสมาธิควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มพูนพลังจิตให้แก่กล้าขึ้น
          หลวงปู่ชื่น ท่านเรียนกรรมฐานควบคู่ไปกับวิชาอาคมจนท่านเรียนรู้ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว โดยมีการทดสอบจากผู้เป็นอาจารย์จนเป็นที่พอใจ  โดยเฉพาะหลวงปู่เอื้อยท่านมีเมตตาถ่ายทอดวิชาและเคล็ดลับต่าง ๆ ให้ หลวงปู่ชื่น จนหมดสิ้น  หลวงปู่เอื้อย ท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในเขมร  ดังชนิดผู้หลักผู้ใหญ่ในเขมรขณะนั้นยังมอบตัวเป็นศิษย์หลายคน”  ในเวลาต่อมาเมื่อหลวงปู่เอื้อยมรณภาพลง หลวงปู่ชื่น จึงออกเดินธุดงค์บุกป่าฝ่าดงดิบในดินแดนเขมรเพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์อีกมากมาย  จนกระทั่งท่านได้พบกับ หลวงปู่ดี  สุวรรณดี  บน เขากุเลนซึ่งท่านเป็นพระผู้มากด้วยอภิญญาญาณชั้นสูง  และเป็นผู้มีพลังจิตอันลึกล้ำมหัศจรรย์เหนือโลกโดยแท้
          ด้วยบุญญาบารมีของ หลวงปู่ชื่น ติคญาโณ  ทำให้ หลวงปู่ดี รับ หลวงปู่ชื่น เป็นศิษย์แล้วจึงพากันออกเดินธุดงค์ไปด้วยกันตามสถานที่ต่าง ๆ หลวงปู่ชื่น ได้ศึกษากรรมฐานและเวทวิทยาคมกับธาตุทั้ง 4 ตลอดจนเกร็ดเคล็ดลับการสร้าง-การปลุกเสกวัตถุมงคล เครื่องรางต่าง ๆ มากมายจาก หลวงปู่ดี ทำให้ท่านมีวิชาติดตัวมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
          หลวงปู่ชื่น ได้เมตตาเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ในการเดินธุดงค์ของท่านให้ฟังว่า หลวงปู่ดี ท่านนี้เก่งมาก ท่านเชี่ยวชาญพระเวทแทบทุกชนิด  ท่านเคยเสกผ้าให้เป็นนกกระยางได้  และเสกใบไม้ให้เป็นต่อเป็นแตนได้  ทั้งยังรู้ภาษาสัตว์แทบทุกชนิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านสามารถล่องหนหายตัวและย่นระยะทางได้  ตลอดจนท่านเดินบนผิวน้ำได้อย่างน่าอัศจรรย์อีกด้วย  หลวงปู่ชื่น เล่าว่า หลวงปู่ดี ท่านเคยแสดงให้ดูมาแล้ว  ท่านเห็นกับตามาแล้วจึงกล้ามาเล่าให้ฟัง  ท่านแสดงให้ดูก็เพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติธรรมสืบต่อกันไปนั่นเอง  การเรียนวิชาอาคมจะมีฤทธิ์เข้มขลังได้  ต้องประกอบไปด้วยพลังจิตอันเป็นสมาธิแก่กล้าควบคู่กันไปด้วย หลวงปู่ชื่น กล่าว
          หลวงปู่ชื่น เป็นพระที่คงแก่เรียนคือท่านชอบศึกษาค้นคว้าตำรับตำราและวิชาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอักขระเลขยันต์  หรือวิชาอาคมอะไรท่านจะทดลองสร้างทดลองปลุกเสกอยู่เสมอ  เมื่อท่านลองแล้วเห็นว่าดีจริงและใช้ได้ผลดีจริงตามตำรา ท่านก็คัดวิชาวิเศษเหล่านั้นมาสร้างมาปลุกวัตถุมงคลให้บรรดาลูกศิษย์ และลูกหลานท่านให้ได้รับแต่สิ่งที่เป็นมงคลเป็นของวิเศษไว้บูชากัน  จากการคัดเลือกพิจารณาตรวจจาก หลวงปู่ชื่น แล้วว่า ดีจริง-เห็นผลจริงจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วัตถุมงคลของท่านมีประสบการณ์ต่อเนื่องเรื่อยมา จนเป็นที่กล่าวขานร่ำลือจากปากของผู้ที่บูชาวัตถุมงคลของ หลวงปู่ชื่น ว่ายอดเยี่ยมอยู่ในขณะนี้
          ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอนำท่านทั้งหลายได้รู้จัก หลวงปู่ชื่น  เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีโอกาสรู้จัก หลวงปู่ชื่น อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน และใกล้ชิดหลวงปู่มากขึ้น เพราะลูกศิษย์บางคนอยู่ห่างไกลซึ่งยังไม่มีโอกาสเดินทางมากราบไหว้หลวงปู่  จะด้วยสาเหตุและปัจจัยใด ๆ ก็ตาม  ผู้เขียนขอเป็นสื่อ  ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อเป็นการหยั่งความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่ลูกศิษย์ที่มีความเคารพนับถือหลวงปู่  หรือท่านที่มีวัตถุมงคลของ หลวงปู่ชื่น ไว้แล้ว  ขอให้รู้ว่าเราทั้งหลายก็เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์องค์เดียวกัน  เพราะมีวัตถุมงคลที่มาจากการปลุกเสกจากหลวงปู่ชื่นด้วยกันทั้งนั้น  ทั้งนี้เพื่อช่วยจรรโลงเกียรติคุณของ หลวงปู่ชื่น ให้แพร่หลายขจรไป  ตลอดยั่งยืนนานต่อไปในภายภาคหน้านั่นเอง
พบสหธรรมิกเก่า
          หลังจาก หลวงปู่ชื่น ธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ มากมาย  จนกระทั่งท่านเดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนาราก อำเภอครบุรี  จังหวัดนครราชสีมา ท่านอยู่ได้ 5 พรรษาจึงได้เดินธุดงค์ต่อเรื่อยไปจวบจนอายุท่านมากขึ้น กำลังวังชาถดถอย ท่านจึงอยู่กับที่ระยะหนึ่ง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2524 หลวงปู่ชื่นได้รับนิมนต์เดินทางไปปลุกเสกวัตถุมงคลที่วัดแห่งหนึ่งใน เขตจังหวัดบุรีรัมย์ งานนั้น หลวงปู่นิล อนุตโร เจ้าอาวาสวัดตาอีรูปปัจจุบันซึ่งเคยเป็น สหธรรมิก (เพื่อน) เก่าก่อนกันมาก็ได้รับนิมนต์จากทางเจ้าภาพให้เป็นพระคู่สวดเช่นกัน
         หลังจากพระทุกองค์เสด็จจากกิจนิมนต์แล้ว  ทางเจ้าภาพได้จัดถวายอาหารเพลให้ฉัน  หลวงปู่นิล กับ หลวงปู่ชื่น นั่งฉันในวงเดียวกัน  หลวงปู่นิลหันมองพระที่นั่งอยู่ข้างตัว  ท่านคิดในใจว่าคล้ายเคยเห็นกันมาก่อน  แต่ท่านยังจำไม่ได้ว่าเคยเห็นกันที่ไหน เพราะความที่จากกันมานานหลายสิบปีทำให้ท่านทั้งสองแทบจำกันไม่ได้  หลวงปู่นิลได้แต่คิดในใจว่าพระองค์นี้ทำไมช่างเหมือน หลวงปู่ชื่น เสียเหลือเกิน  จนอดใจไม่ไหวจึงเอ่ยถามไปว่า หลวงพ่อท่านอยู่วัดไหน ชื่ออะไรหลวงปู่ชื่น ตอบกลับไปทันที อาตมาชื่อชื่น เป็นพระธุดงค์ยังไม่มีวัดจำพรรษา
          หลวงปู่นิล นั่งคิดตั้งนานที่แท้ก็ใช่หลวงปู่ชื่นจริง ๆ ด้วย  เมื่อท่านทั้งสองได้นั่งสนทนากันแล้วหลวงปู่นิลจึงได้ออกปากนิมนต์หลวงปู่ชื่นให้มาจำพรรษาอยู่ด้วยกันที่วัดตาอี  ประกอบกับช่วงนั้น หลวงปู่ชื่น มีอายุมากแล้วและชาวบ้านตาอีก็ได้นิมนต์ท่านไว้ไม่ให้เดินธุดงค์อีก  นับตั้งแต่นั้นมา หลวงปู่ชื่น จึงได้อยู่จำพรรษาที่วัดตาอีเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
 เพชรเริ่มทอแสง
          หลังจาก หลวงปู่ชื่น มาอยู่วัดตาอีแล้วท่านได้เก็บตัวเงียบอยู่แต่ภายในกุฏิหลังเล็ก ๆ เหมือนพระหลวงตาแก่ ๆ ธรรมดา  แทบไม่มีใครรู้เลยว่าท่านเป็นพระที่มี พลังจิต และมีอาคมเข้มขลังมาก จนกระทั่งกลางปี พ.ศ. 2542 หลวงปู่ชื่นได้สร้างวัตถุมงคลออกมา 2-3 รุ่น  ผลปรากฏว่าผู้ที่นำวัตถุมงคลของท่านไปบูชาต่างมีประสบการณ์ต่าง ๆ นานามากมาย  จากปากต่อปากทำให้วัตถุมงคลที่ท่านบรรจุพลังจิตเวทวิทยาคมที่มี พลังมหัศจรรย์ ความวิเศษขลัง ยับยั้งภัยพาล  อาถรรพณ์จัญไร ขจัดสรรพทุกข์ สรรพโรค สรรพภัยที่มีอานุภาพ  ทั้งเมตตามหานิยม มหาโชค มหาลาภ ค้าขายดีเยี่ยม คุ้มครองป้องกัน ทำให้ชื่อเสียงหลวงปู่ชื่นดังขึ้นมาเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปมากขึ้นเป็นลำดับ  จากปากผู้ที่ได้บูชาวัตถุมงคลของท่านไปบูชาส่วนใหญ่ยอมรับว่าวัตถุมงคลของท่านดีเยี่ยมจริง ๆ ใช้แล้วได้ผลดีเกินคาด  ส่วนสาเหตุที่ท่านยอมเปิดตัวและจัดสร้างวัตถุมงคลออกมาเป็นทางการเนื่องจาก ท่านกำลังก่อสร้างอุโบสถซึ่งขาดปัจจัยอยู่อีกมาก  อีกประการหนึ่งหลวงปู่เคยบอกไว้ว่า ถึงเวลาที่ครูบาอาจารย์ท่านให้เปิดตัวแล้ว เพื่อนำความรู้เวทวิทยาคมที่ได้ร่ำเรียนมาสงเคราะห์พุทธศาสนิกชน และจัดสร้างถาวรวัตถุเพื่อการพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป
 หินลงสระกลายเป็นงูยักษ์
          เมื่อครั้งที่ หลวงปู่ชื่น มาอยู่ที่วัดตาอีใหม่ ๆ นั้น  ท่านได้เร่งทำความเพียรปฏิบัติธรรมจนพลังจิตแก่กล้า ด้วยท่านเป็นพระที่รักสันโดษชอบเก็บตัวเงียบ ๆ อยู่แต่ภายในกุฏิ ชาวบ้านจึงคิดว่าท่านเป็นหลวงตาแก่ ๆ ไม่มีอะไร  เป็นพระธรรมดาไม่มีวิชาอาคมอันใด
          ต่อมาทางวัดได้ขุดสระใหม่ ทางเจ้าอาวาสจึงประกาศบอกชาวบ้านว่า ห้ามลงอาบน้ำในสระ เพราะสระน้ำแห่งนี้พระเณรต้องใช้ดื่มกิน แต่ชาวบ้านขาดความเกรงใจท่าน ตกเย็นทั้งหนุ่มสาวพากันลงว่ายน้ำเล่นในสระอย่างสนุกสนาน บ้างก็นำผ้ามาซักทำให้ฟองแฟ๊บที่ซักลอยเต็มคุ้งสระ บอกแล้วก็เฉย เตือนแล้วก็ไม่หยุด
          หลวงปู่ชื่น จึงใช้ไม้ตายเพื่อให้รู้จักที่ต่ำที่สูง  และที่ควรมิควรกันบ้าง ท่านจึงนำก้อนหินมาสองก้อน แล้วเสกด้วยคาถาอาคมจากนั้นท่านโยนลงไปในสระน้ำ สามวันต่อมาพวกที่ชอบลงเล่นน้ำในสระภายในวัดต่างก็ตกใจแตกตื่นขึ้นตลิ่งกันแทบไม่ทัน เพราะเห็นพญางูยักษ์สองตัวว่ายน้ำไปมาในสระให้เห็นกับตากันจะจะ   ชาวบ้านตาอีเห็นกันทั้งหมู่บ้าน
         เรื่องนี้เป็นที่เลื่องลือกันมากในอำเภอบ้านกรวด  ถ้าหากใครมีโอกาสได้ไปที่วัดตาอีลองสอบถามชาวบ้านดูก็ได้  และจากวันนั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงวันนี้ก็ไม่มีใครกล้าลงไปเล่นน้ำในสระที่วัดตาอีกันอีกเลย...


ประวัติ พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต วัดทรายขาว (พระครูธรรมกิจโกศล)


ประวัติ พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต วัดทรายขาว (พระครูธรรมกิจโกศล)

         พระครูธรรมกิจโกศล หรือ พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต เดิมชื่อ "นอง หน่อทอง"เกิดเมื่อวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2462 ที่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โยมบิดาชื่อ นายเรือง หน่อทอง โยมมารดาชื่อ นางทองเพ็ง มีพี่น้อง 3 คน คนแรก คือตัวพระอาจารย์นอง คนที่สองนางทองจันทร์ และคนที่สามนายน่วม พระอาจารย์นองเรียนจบ ป.3 ที่โรงเรียนนาประดู่ ขณะมีอายุ 15 ปี ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวน และบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อายุ 19 ปี ที่วัดนาประดู่ มีพระพุทธไสยารักษ์ (นุ่ม) วัดหน้าถ้ำ เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่บวชได้ 1 เดือน ก็ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวนต่อไประยะหนึ่ง จนกระทั่งอายุได้ 21 ปี
         เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2482 ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดนาประดู่ โดยมีพระครูวิบูลย์สมณกิจ (ชุ่ม) วัดตุยง เจ้าคณะเมืองหนองจิก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดำ วัดนางโอ และพระครูภัทรกรโกวิท (แดง)วัดนาประดู่ เป็นพระคู่สวดได้ฉายา "ธมฺมภูโต" อยู่วัดนาประดู่ได้ 12 พรรษา จากนั้นย้ายมาจำพรรษาที่วัดทรายขาว จนได้เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะตำบลโคกโพธิ์ตราบจนมรณภาพ
         สำหรับพระอาจารย์นอง เป็นสหธรรมิกกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เคยร่วมสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเนื้อว่านเมื่อปี 2497 จนโด่งดังทั่วสารทิศ และต่อมาพระอาจารย์นองได้สร้างเครื่องรางของขลังที่ดังไปทั่วเมืองไทย คือตะกรุดนารายณ์แปลงรูปและพระเครื่องหลวงพ่อทวดเนื้อว่านฝังตะกรุด นอกจากนั้นแล้วพระอาจารย์นองยังเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งที่ได้รับการยกย่องชมเชยตลอดมา และเป็นพระอยู่ในนิกายมหานิกาย สิริรวมอายุถึงวันมรณภาพได้ 80 ปี 11 เดือน 60 พรรษา
         ความสัมพันธ์กับอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ท่านเป็นสหธรรมิกกับท่านพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นทั้งกัลยาณมิตรเป็นศิษย์กับอาจารย์ต่อกัน เกื้อกูล เกื้อหนุนกันมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนวาระสุดท้ายของท่านอาจารย์ทิม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2512
         ทั้งพระอาจารย์ทิม และพระอาจารย์นอง เป็นศิษย์ร่วมสำนักวัดประดู่มาด้วยกันเมื่อพระอาจารย์ทิมมาอยู่วัดช้างให้ และพระอาจารย์นองไปอยู่วัดทรายขาว ก็ยังมีความสัมพันธ์ดีงามมาโดยตลอด กิจการใดของวัดช้างให้ ท่านจะเป็นผู้คอยช่วยเหลืออยู่ข้างกายพระอาจารย์ทิมทุกอย่าง ที่สำคัญ การสร้างพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี พ.ศ.2497 ถ้าจะกล่าวกันแล้ว ปฐมเหตุจริงๆ ก็มาจากท่านที่เป็นผู้ชักชวนพระอาจารย์ทิมให้สร้างพระหลวงพ่อทวด ตามที่ท่านได้เล่าให้ฟังเท่าที่จำได้คร่าวๆ คือ
         ช่วงนั้น ท่านกับพระอาจารย์ทิม ขึ้นมากรุงเทพฯ และไปที่วัดระฆัง เพื่อที่จะไปเช่าบูชาพระสมเด็จของหลวงปู่นาค มาเพื่อให้คนทำบุญจะได้นำเงินไปสร้างโบสถ์วัดช้างให้ พกเงินขึ้นมาประมาณ 3,000 บาท ขณะที่กำลังจะขึ้นไปเช่าพระ ท่านบอกว่า "กูนึกยังไงก็ไม่รู้ สะกิดอาจารย์ทิม บอกว่า ท่านๆ ทำไมเราไม่กลับไปทำพระของเราเองล่ะ" "พระอะไร...?" พระอาจารย์ทิมถาม "ก็พระหลวงพ่อทวดไง" พระอาจารย์ทิมบอก "เออ...!! นั่นน่ะสิ" ทั้งสองท่านจึงได้เช่าบูชาพระสมเด็จหลวงปู่นาค เพียงเล็กน้อยและพากันกลับปัตตานี
         ปฐมเหตุตรงจุดนี้ คือกำเนิดของสุดยอดพระเครื่องเมืองใต้ หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ปีพ.ศ.2497 อันเป็นอมตะตลอดกาล ส่วนคุณอนันต์ คณานุรักษ์ นั้น เป็นส่วนประกอบที่ช่วยเหลือให้การจัดสร้างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งคงเป็นเพราะบารมีของหลวงพ่อทวดที่บันดาลชักนำ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ คหบดีชาวปัตตานีให้มาเป็นกำลังสำคัญ
         การจัดสร้างพระหลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ปี พ.ศ.2497 ท่านจึงมีส่วนอย่างมากในทุกๆ ขั้นตอนการจัดสร้าง ฉะนั้น...ท่านจะรู้พิธีกรรม และเรื่องว่านดีที่สุด เมื่อท่านมาสร้างพระหลวงพ่อทวด ขึ้นเองจึงมีความขลังแ ละศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาโดยตลอด
เหตุการณ์ที่บ่งให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองพระอาจารย์ที่ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกประทับใจและกินใจมาก ตามที่ท่านเล่าให้ฟังว่า
         ก่อนที่อาจารย์ทิมจะไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ ท่านมาหาเราที่วัด สั่งเสียไว้หลายเรื่องฝากให้เราช่วยดูแลวัดช้างให้ ท่านหยิบขันน้ำมนต์ขึ้นมา ท่านจับประคองอยู่ด้านหนึ่งให้เราจับอีกด้านหนึ่ง แล้วท่านพูดว่า "ตั้งแต่คบกันมา คุณไม่เคยทำให้ผมเสียใจเลย คนอื่นยังมีตรงบ้าง คดบ้าง "เรา" ขออธิษฐาน บุญใดที่เคยทำร่วมกันมา และยังไม่เคยทำร่วมกันมาก็ดี ทั้งชาตินี้และอดีตชาติ ขออธิษฐาน เกลี่ยบุญให้เท่ากัน เพื่อจะได้เกิดทันกันทุกๆ ชาติไปจนถึงชาติสุดท้าย"
         จากนั้นพระอาจารย์ทิมก็เข้าไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ และก็มรณภาพที่โรงพยาบาลกลางเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2512 คำอธิษฐานนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นคำพูดที่ยิ่งใหญ่ เป็นอมตวาจาอย่างแท้จริง ได้ความรู้สึกถึงความผูกพันที่ท่านทั้งสองมีต่อกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอด ได้ร่วมสร้างตำนานอันมหัศจรรย์ ของหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ แผ่ออกไปทั่วทุกสารทิศ พระอาจาร์ทิม ถ้านับจาก พ.ศ.2497-2512 ก็เพียง 15 ปี แต่พระอาจารย์นองท่านใช้เวลาถึง 45 ปี (2497-2542)
ปัจจุบัน หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อเสียงของหลวงพ่อทวดดังไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ ก็มีผู้คนนับถือไม่น้อยเช่นกัน
         เรื่องความสัมพันธ์กับพระอาจารย์ทิมนั้น ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับ "ดีนอก" คือมีปัจจัยอื่นช่วยส่งเสริม แต่เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็คือ "ดีใน" นั่นเอง หมายถึง คุณลักษณะส่วนตัวของพระอาจารย์นอง สองสิ่งต้องคู่กันจึงจะสมบูรณ์ เมื่อดีก็ต้องดีทั้งนอก ดีทั้งใน
         พระอาจารย์นอง ท่านยึดถือมาตลอดในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยไม่เลือกว่าจะเป็นศาสนาใดๆ ยากดีมีจน ท่านจะเป็นผู้ให้มาโดยตลอด ทั้งเรื่องสร้างโรงพยาบาลซื้ออุปกรณ์การแพทย์ สร้างโรงเรียน ทุนการศึกษา สร้างถนนหนทาง บริจาคทรัพย์ให้กับสาธารณกุศลอยู่เป็นประจำ ช่วยสร้างอุโบสถวัดต่างๆ แม้กระทั่งบริจาคเงินให้กับชาวอิสลามที่อยู่แถบ วัดทรายขาว ตลอดจนช่วยเหลือสงเคราะห์เรื่องต่างๆ จนได้รับการยอมรับนับถือจากชาวอิสลามเป็นจำนวนมาก
         ในเรื่องของการบริจาคทรัพย์ซื้ออุปกรณ์การแพทย์นั้น ท่านบอกว่า สามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้มากประโยชน์เกิดขึ้นทันที ด้วยการที่ท่านเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้งท่านจึงเห็นคุณประโยชน์ของอุปกรณ์การแพทย์ บางครั้งเวลาท่านอารมณ์ดีท่านจะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ท่านเคยพูดว่า
         "ตอนกูไปอยู่โรงพยาบาล กูก็เตรียมเงินสดไปด้วยตลอด แล้วถามหมอว่า ขาดอะไรบ้าง หมอบอกว่า ขาดไอ้นั่น ไอ้นี่ กูควักเงินสดให้ไปซื้อเลย ครั้งหลังๆ นี่ พอกูไปนอนโรงพยาบาล ตื่นขึ้นมามองซ้าย มองขวา มีชื่อ พระครูธรรมกิจโกศล ติดเต็มไปหมด" ท่านพูดเสร็จก็หัวเราะร่วนชอบใจใหญ่
         ท่านเคยพูดให้ฟังเสมอว่า "คนที่เขาเดือดร้อนมาพึ่งเรา หากไม่เกิดวิสัยแล้ว เราช่วยได้ก็จะช่วย บางคนมาไม่มีเงิน ค่ารถ ค่ากิน เราก็ให้ไปเรื่องบุญ เรื่องทาน ใครทำใครก็ได้ไป บุญยิ่งทำก็ยิ่งได้บุญ ทานยิ่งให้ทานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้กลับมามากยิ่งๆ ขึ้นเป็นการสั่งสมบารมีลดกิเลสลงไป"
         จริงดั่งท่านว่า "ยิ่งทำก็ยิ่งได้ ยิ่งให้ก็ยิ่งมา" ธรรมะข้อนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสำหรับสังคมยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง เพราะสังคมเราทุกวันนี้ มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกที ถ้าคนเรารู้จักคำว่าให้ รู้จักคำว่าพอ รู้จักเสียสละ เชื่อว่าสังคมจะดีขึ้นกว่านี้แน่นอน เรื่องทานบารมีเป็นธรรมะที่พระอาจารย์นอง ยึดปฏิบัติบำเพ็ญเพียรมาโดยตลอดชีวิตของท่าน ถือว่าเป็นคุณความดีในตัวท่านเอง แต่สามารถสร้างคุณานุประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมหาศาลท่านจึงเป็นที่รักเคารพของมหาชน
         พระอาจารย์นอง ท่านดำรงชีวิตอยู่ในสมณเพศด้วยความเรียบง่าย กิน (ฉัน) ง่ายอยู่ง่ายไม่พิถีพิถัน วางเฉยในเรื่องยศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่มีความทะยานอยาก ท่านพัฒนาวัดทรายขาว จนมีความเจริญรุดหน้าอย่างเห็นได้ชัดเจน ชั่วระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ท่านสร้างวัดทรายขาว ให้งามสง่ากว่าวัดใดๆ ใน จ.ปัตตานี หรือแม้กระทั่งจังหวัดใกล้เคียง เงินที่นำไปสร้างทั้งหมดกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท ล้วนแล้วแต่เป็นเงินที่มาจากการสร้างพระหลวงพ่อทวดทั้งสิ้น
         ท่านมิได้แตะต้องเงินทำบุญที่มีผู้บริจาคให้วัดแต่อย่างใด ปรากฏว่าหลังจากท่านมรณภาพ คณะกรรมการได้เคลียร์บัญชีทรัพย์สินในบัญชีต่างๆ เหลือเงินสดถึงกว่าสามสิบล้านบาท ทุกบัญชีท่านแยกแยะไว้ชัดเจนว่าเป็นเงินอะไรบ้าง มีที่มาที่ไปอย่างไร หนี้สินใครบ้าง ท่านมีบัญชีทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักบริหารงานที่มีการจัดการที่ดีเยี่ยม

Tags อาจารย์นอง - ประวัติอาจารย์นอง - ประวัติพระอาจารย์นอง - พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต - วัดทรายขาว - อาจารย์นอง วัดทรายขาว - พระครูธรรมกิจโกศล - พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว - พระหลวงพ่อทวด - พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ - พระอาจารย์ทิม

ประวัติหลวงปู่กาหลง เขี้ยวแก้ว วัดเขาแหลม


ประวัติหลวงปู่กาหลง เขี้ยวแก้ว วัดเขาแหลม





ประวัติหลวงปู่กาหลงโดย สังเขป

       ลป.กาหลง ท่านเกิดวันเสาร์ เดือนยี่ พ.ศ. 2462ที่คลอง 7 ปทุมธานี โยมแม่ท่านเป็นชาว สุพรรณบุรีเป็นน้องสาวของ ลพ.เนียม วัดน้อย ดังนั้นท่านจึงมีศักดิ์เป็น หลานชายแท้ๆของ ลพ.เนียม พระอภิญญาระดับปรมาจารย์แห่งเมืองสุพรรณบุรี ในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้น ตาบาง อยู่บ้านตรงข้ามกันออกหาปลาในกลางดึกเห็น ฤาษีจูงเด็กเข้าไปในบ้าน เมื่อเติมโตท่านก้อสนใจร่ำเรียน วิชาอาคมมาตั้งแต่ในวัยเยาว์ ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 20 ปี ณ พัทธสีมาวัดนาบุญ ต.คลอง7 ปทุมธานี โดยมีลพ. เนียม วัดนาบุญเป็นพระอุปัชฌาย์
        จากนั้นท่านได้ไปศึกษาเล่าเรียนพระกัมมัฎฐานศึกษาพระเวทย์จากครูบาอาจาย์ในยุคนั้นหลายท่าน เช่น ลพ.เนียม วัดนาบุญ ลป.ช้าง วัดเขียนเขต ลป.ด๊วด วัดกลางคลอง4 ลพ. แช่ม วัดตาก้อง ลพ.จง วัดหน้าต่างนอก ลพ.ทองสุข วัดโตนดหลวง ลป.จัน วัดนางหนู เจ้าคุณอินทรสมาจารย์(เงิน) วัดอินทรวิหาร ลพ.ปลื้ม ศิษย์สายลป. ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า โดยขึ้นครูพร้อมกับ ขุนกล้ากลางผจญ มือขวาของกรมหลวงชุมพรฯ
        เมื่อปี2485 ลป.กาหลงได้ติดตาม ลพ.เนียม วัดนาบุญมาปลุกเสก ชินราชอินโดจีนที่วัด สุทัศน์และได้มีโอกาศเข้าเฝ้า สมเด็จพระสังฆราช แพ ครั้งต่อมาจึงได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนการผสมสูตร นวโลหะและตำราพิธีกรรมการสร้างพระกริ่งจากพระราชมงคลมุนี(สนธิ์)โดยศึกษาวิชาควบคู่กับ ลพ.จำลอง คณะ11 ซึ่งถือว่าท่านเป็นศิษย์เอกมือขวาโดยตรงและยังคุ้นเคยสนิทสนมกับพระราชวิสุทธาจารย์ห
รือเจ้าคุณแป๊ะอดีตเจ้าคณะ 6เป็นอย่างดีซึ่งท่านเป็นศิษย์สายตรงของสมเด็จพระสังฆราช แพ
         นอกจากนี้ลป. กาหลงยังเล่าให้ฟังอีกว่าได้เล่าเรียนพระวิปัสสนากัมมัฎฐานและ สรรพวิชาต่างๆในนิมิตระหว่างเข้าสมาธิจากครูบาอาจารย์ต่างๆ เช่น
     ฤาษีปู่เจ้าสมิงพรายที่จูงท่านมาเกิด ท่านท้าวมหาพรหมชินะปัญจะระ และครูบาอาจาย์อีกหลายท่านที่มรณภาพไปแล้ว
     พระคณาจารย์ที่เป็น สหธรรมมิกกับ ลป.กาหลงมีหลายท่านที่ยังมีชีวิตอยู่และมรณภาพไปแล้ว เช่น ลพ.พรหม วัดช่องแค ลป.โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ท่านเป็นศิษย์ผู้พี่ลพ.ยิด วัดหนองจอก
     ท่านเคยไปปลุกเสกตามวัดต่างๆหลายต่อหลายวัดมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ไปปลุกเสกร่วมกับ ลป.โต๊ะ หลังเสร็จพิธีการลป.โต๊ะถึงกับกล่าวและชี้มาที่ ลป.กาหลง หัยลพ.แช่มวัดนวลนรดิศและศิษย์ที่นั่งอยู่ฟังว่า "พระรูปนี้ชื่ออะไรอยู่วัดไหน ทำไมพลังอำนาจจิตถึงได้รุนแรงพิศดารแบบนี้ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน"
      


    หลวงปู่ท่านมีเขี้ยวแก้วอยู่ที่กลางเพดานปากเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ติดตัวท่านมาแต่เกิด หลวงปู่บอกว่าของดีนี้เกิดขึ้นเองและจะมีก็แต่บุคคลที่พิเศษจริง เช่น ของพระพุทธเจ้าเป็นต้นที่มี ถ้าเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เรียกว่า พระเขี้ยวแก้ว แต่ของหลวงปู่ท่านเรียกว่า เขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นของดีเฉพาะตัวเฉพาะบุคคล
     
เวลาใครไปกราบท่านแล้วให้ท่านปลุกเสกของท่านก็มักจะเอามือล้วงไปในปากท่านแตะที่เขี้ยวแก้วของท่านแล้วนำมาคลึง ที่พระหรือ ของที่มาให้ท่านปลุกเสกเป็นการเพิ่มพลังพุทธคุณ
       ท่านมักกล่าวอยู่เสมอว่า "ของๆฉันตั้งใจทำมากับมือต่อไปจะมีค่ายิ่งกว่าทองคำจะหายากยิ่งกว่าเพชร" ฉันทำเครื่องรางของขลังทั้งสักทั้งเสกเพื่อคุ้มครองชีวิตคนมาตั้งแต่ปี 2485 แต่ไม่เคยประกาศให้ใครรู้มีแต่บอกต่อกันแบบปากต่อปาก เมื่อก่อนใครจะมาเอาของๆฉันไปบูชาต้องแบกปืนมาลองด้วยถ้าฉันไม่แน่จริงฉันคงสร้างโบสถ์ได้ไม่ถึง8หลังหรอก
         คือว่าเมื่อก่อนท่านย้ายวัดไปหลายวัดท่านสร้างโบสถ์เสร็จท่านก็ย้ายไปจำวัดอื่น แล้วก็สร้างโบสถ์อีกเป็นแบบอยู่หลายวัด 8หลังแล้วที่ท่านสร้างมา

ครูบาอาจารย์ของหลวงปู่
1.หลวงพ่อซึ้ง วัดนาบุญ ทางหนังเหนียวคงกระพัน พระอาจารย์ท่านนี้
หลวงปู่ได้ออกเหรียญของท่านไว้ด้วย โดยหลวงปู่กาหลงปลุกเสกเอง
2.หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก คงไม่ต้องบอกนะครับ
3.หลวงพ่อหวล วัดประดิษฐ์สุวรรณาราม ท่านเก่งทางด้านปลัดขิก
เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กาหลง และหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก
4.หลวงพ่อกาล วัดโคกโพธิ์ เก่งทางด้านเสกหมาก
5.พระอาจารย์รส ท่านนี้เป็นศิษย์สายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า มีวิชาอาคมสูง ความจริงเป็นรุ่นน้องของหลวงปู่ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวิชากัน
6.พระอาจารย์ตื้น เป็นเพื่อนกับหลวงปู่ เรียนการทำผงพระพุทธคุณจากพระอาจารย์รสด้วยกัน พระอาจารย์ตื้นท่านนี้สำเร็จสมาธิขั้นสูง
7.หลวงปู่ขุขันธ์ พระผู้เฒ่าชาวเขมร อายุ 120 ปี ซึ่งหลวงปู่ขุขันธ์ท่านนี้
เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเนียมและหลวงพ่อซึ้งด้วย
8.สมเด็จพุฒาจารย์โต โดยศึกษาเล่าเรียนในนิมิตระหว่างเข้าสมาธิ



ประวัติพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) วัดบางพระ

ประวัติพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) วัดบางพระ
ประวัติพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) วัดบางพระ
อีเมล์
ประวัติ
พระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ)
วัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
เพชรน้ำหนึ่งแห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี
ปัจจุบัน หากได้มีโอกาสเข้ากราบพระคุณเจ้าหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จะเห็นได้ว่าองค์หลวงพ่อนั้น มีความอิ่มบุญ อิ่มกุศล ดูดวงหน้าท่านนั้นมีแต่ความสงบ มีแต่ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่กว่าที่ท่านหลวงพ่อเปิ่น จะสร้างสมบุญบารมีถึงชั้นนี้นั้น องค์ท่านมีประวัติที่มาพิสดารพอประมาณ ซึ่งเป็นการต่อสู้ดิ้นรนในการศึกษาหาวิชาความรู้ที่ตัวเองต้องค้นหามาตลอดในการเรียนรู้แต่ละครั้ง แต่ละอาจารย์
ถึงจุด ๆหนึ่ง หลวงพ่อเปิ่นถึงกับกล่าวว่า
ในตอนแรก ๆ นั้น อาตมาคิดว่าได้เรียนวิชาเอกไว้มากมายแล้ว และได้เรียนรู้ในข้อธรรมทั้งหลาย ลึกซึ้งดี แล้ว แต่ที่ไหนได้พอได้พบได้สนทนากับผู้ที่มีความรู้และภูมิธรรมสูงกว่า และเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ดำริตน ให้พ้นจากอาสาวะกิเลสทั้งปวงแล้วนั้น ทำให้อาตมารู้สึกว่า อาตมาเองเหมือนกบอยู่ในกะลาครอบจะต้องเรียนรู้ จะต้องศึกษาอีกมากมาย และยังต้องบำเพ็ญเพียรทางจิตอีกมากจึงจะเทียบเท่าท่านผู้รู้เหล่านั้นได้ เพราะขณะนั้น อาตมายังไม่ได้ปฏิบัติตน ไม่เคยเห็นโลกกว้างเหมือนผู้รู้ผู้แสวงหา ไม่ได้ถึงธรรมอย่างแท้จริง และปฏิบัติกันอยู่ แค่วิชาความรู้ทางไสยศาสตร์เพียงอย่างเดียว ไม่อาจนำพาตัวเองรอดจากเวียนว่ายตายเกิดได้เลยต้องศึกษาปฏิบัติควบคู่กันไปเป็นพลังเสริมความมั่นคง อันก่อให้เกิดความกาวหน้าทางจิต จนกระทั่งได้พบกับแสงสว่างทางธรรมอันสมควรอีกด้วย
และถ้าหากอาตมาไม่แสวงหาวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินแล้วก็จะอยู่เพียงเท่านี้ ไม่ก้าวหน้าต่อไปวิชาก็ไม่แน่นพอ ไม่ได้เห็นแสงสว่างของทางธรรม และยังไม่ได้เข้าถึงคุณวิชาที่เข้าศึกษาจึงจำเป็นต้องไปเพื่อกาลข้างหน้าจะได้เป็นผู้รู้ได้บ้าง แต่จะได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็แล้วแต่บุญกุศลเถิดว่าจะสนองตอบเราได้เพียงไหน
นั้นเป็นคำกล่าวขององค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น เมื่อท่านได้พบกับหลวงพ่อโอภาสี (มหาชวน) ท่านจึงทราบว่าท่านอยู่ในฐานะเพียงไหน
จึงต้องออกธุดงค์ต่อไปเพื่อหาความวิเวกศึกษาปฎิบัติ นี่เป็นเพียงจุดเดียวเท่านั้นในชีวิตขององค์พระคุณเจ้าหลวงพ่อเปิ่น ซึ่งมีอยู่มากมายในเรื่องของความพิสดารแห่งการศึกษาหาความรู้
เรามาทราบถึงชาติองค์ท่านก่อน
องค์หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นชาวนครชัยศรี จ.นครปฐม โดยกำเนิด บิดาท่านมีนามว่า นายฟักมารดามีนามว่านางยวงอยู่ในตระกูลพู่ระหงครอบครัวขององค์หลวงพ่อเปิ่นมีอาชีพทำนาอันเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในแถบนั้น
องค์หลวงพ่อเปิ่น ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๖๖ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้นหนึ่งค่ำ (๑) เดือนเก้า (๙) ครั้งนั้นในแถบถิ่นเมืองนครชัยศรี ได้มีทารกน้อยมาจุติ ซึ่งมากล้นด้วยบุญญาธิการ ด้วยลักษณะที่ผิวพรรณผ่องใส ผิดไปจากพี่น้องซึ่งอยู่ด้วยกันทั้งหมดเวลานั้น คือมีพี่ทั้งหญิงและชาย ๘ คน หลวงพ่อเป็นคนที่เก้า และต่อมาองค์หลวงพ่อจึงมีน้องที่เป็นหญิงเพิ่มมาอีกหนึ่งคน
วัยเด็ก ชีวิตปฐมวัยขององค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างเป็นที่สุด ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าในสมัยนั้นแถบถิ่นลุมน้ำนครชัยศรีอุดมไปด้วยวิชาอาคม อาจเนื่องด้วยไกลปืนเที่ยง ในตอนนั้นการเรียนรู้วิชาอาคมเอาไว้เพื่อป้องกันตัวจึงถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ชายทุกคนจักพึงมี หลวงพ่อเปิ่น องค์ท่านสนใจในเรื่องไสยศาสตร์มาตั้งแต่สมัยเด็ก อาศัยว่าครอบครัวของท่านอยู่ใกล้กับวัดบางพระ ซึ่งในสมัยนั้นมีองค์พระคุณเจ้าที่จำพรรษา (รวมทั้งพี่ชายหลวงพ่อด้วย) ณ วัดบางพระ เก่งกาจในสายไสยศาสตร์มากหลายองค์ เด็กชายเปิ่นจึงเข้าออกเพราะความอยากรู้ อยากใฝ่หาในวิชาอยู่กับวัดบางพระเป็นประจำ
ครั้นต่อมาครอบครัวย้ายไปตั้งรกรากทำมาหากินที่จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง ที่สุพรรณบุรีนี่เองที่เด็กชายเปิ่นได้ฉายแววเป็นนักเลงจริง เป็นคนจริงให้เห็น เพราะการอยู่ในดงนักเลงที่เป็นคนจริง จะต้องเป็นคนจริงไปด้วยโดยปริยาย เมื่อถึงจุดนี้ผู้ชายไทยใจนักเลงทุกคนจึงต้องหาอาจารย์ศึกษาทางด้านไสยเวทย์ เพื่อเอาไว้ป้องกันตัวเองบ้าง เป็นการเสริมสร้างบารมีให้แก่ตนเอง เด็กชายเปิ่นจึงต้องขวนขวายหาครูบาอาจารย์ผู้เรืองเวทวิชาอาคม ศึกษาหาวิชามาไว้ป้องกันตัวเองได้เวทมนตร์คาถาเอามาท่องจำ เป็นอย่างนี้อยู่ตลอด
จนกระทั่งได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ขององค์ท่านหลวงพ่อแดงแห่งวัดทุ่งคอก อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ศิษย์เอกของท่านหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน องค์พระคุณเจ้าที่เก่งพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะเก่งกล้าเป็นอย่างมากทางด้านกัมมัฎฐานและไสยเวทย์ นี่เองคือจุดเริ่มความเก่งกาจของ เด็กชายเปิ่นจนถึงนายเปิ่นในกาลเวลาต่อมา
หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก องค์เสมือนจะทราบว่าเด็กชายเปิ่นคนนี้มีแววแห่งผู้ขมังเวทอย่างแน่นอน อีกทั้งจิตใจ อันใสบริสุทธิ์สะอาด ผนวกกับเป็นคนจริงท่านจึงได้ถ่ายทอดในสายวิชาของท่านพร้อมวิชา ไสยเวทย์ต่าง ๆ ให้กับเด็กชายเปิ่น
ด้วยความจำ ด้วยความที่ตนใฝ่หาทางนี้โดยตรง ความรู้ที่พระอาจารย์หลวงพ่อแดงมอบให้จึงตกอยู่ที่เด็กชายเปิ่นอย่างมากมาย ที่สำคัญในช่วงนั้นนั่นเองที่เด็กชายเปิ่นเจริญเติบโตเป็นนายเปิ่นได้มีความอยากรู้ อยากเรียน อยากทราบในสายพระเวทย์เหมือนองค์หลวงพ่อเปิ่น จึงเป็นที่ถูกคอกันยิ่งนัก ซึ่งต่อมาเพื่อนคนนี้ได้อุปสมบทเหมือนกัน มีนามว่าหลวงพ่อจำปา (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เจ้าอาวาสวัดประดู่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ฯ ซึ่งมีลูกศิษย์ ลูกหามากมาย
หลวงพ่อเปิ่นศึกษาวิชากับหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอกอยู่จนถึงเวลาที่ครอบครัวย้ายถิ่นฐานกลับสู่บางแก้วฟ้า จังหวัดนครปฐม อีกครั้ง ซึ่งตรงกับอายุครบเกณฑ์ทหารพอดี ในสมัยนั้นการเกณฑ์ทหารแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ ทหารประจำการ กับ ทหารโยธา
สมัยนี้นี่เองที่นายเปิ่นได้รับการถ่ายทอด วิชาสักยันต์ อันเกรียงไกร โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระ แน่นอนที่สุดนี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตขององค์หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เพราะวิชาที่ได้รับการถ่ายทอดมาล้วนเป็นวิชาที่สุดยอดทั้งสิ้น หากมองย้อนกันกลับไป พระอธิการหิ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระในเวลานั้น หากเทียบกันในเรื่องไสยเวทย์คาถา จัดได้ว่าเป็นหนึ่งเป็นจิตจริงอันแน่วแน่ เพียงแต่องค์ท่านไม่ออกสู่สนามลองพระเวทย์สักเท่าใด อีกทั้งเรื่องยาสมุนไพรรักษาโรคก็นับว่าเป็นหนึ่งเหมือนกัน
ถือว่าเป็นวิชาพระคาถาอาคมที่ได้รับการสืบทอดความลึกลับกันมาตั้งแต่โบราณกาล ขณะนั้นนายเปิ่นได้เข้ารับใช้หลวงพ่อหิ่ม เพื่อความอยากเรียนในด้านไสยเวทย์จากองค์ท่านหลวงพ่อหิ่มนั่นเอง ซึ่งก็ได้รับความเมตตาเป็นอย่างดีจากท่านหลวงพ่อหิ่ม สายวิชาพระเวทย์ลึกลับตั้งแต่โบราณกาลจากองค์หลวงพ่อหิ่ม จึงถูกถ่ายทอดให้กับนายเปิ่นทั้งหมด
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นเพราะในช่วงที่หนุ่มแน่น นายเปิ่นเข้าออกวัดบางพระเกือบทุกเวลาจึงใกล้ชิดกับวัดอย่างดีที่สุด จนเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ซึ่งนายเปิ่นคิดไปว่า ต้องบวชเรียนเพื่อศึกษาในสายวิชาอย่างจริงจัง เมื่อมาถึงในขั้นตอนที่ต้องใช้จิตใจในส่วนของความสงบ นึกดังนั้นจึงขออนุญาตพ่อแม่ว่าอยากบวชเรียน ซึ่งทั้งสองคนต่างดีใจเป็นอย่างมาก ยินดีให้นายเปิ่นเข้าสู่บวรพุทธศาสนา
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ นายเปิ่นเข้าบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดบางพระ ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยมี พระอธิการหิ่ม อินฺทโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อยู่ ปทุมรัตน์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เปลี่ยน จิตฺตธมฺโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ หลวงพ่อเปิ่น จึงเริ่มศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมวินัย สิกขาบท ตามภาระหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ ที่สำคัญคือการศึกษาเล่าเรียนทางด้านวิชาอาคม จากตำรับตำราโบราณที่พระอาจารย์หลวงปู่หิ่ม สอนให้อย่างตั้งอกตั้งใจ นอกจากท่องบ่นพระเวทย์มนตร์คาถาอาคมแล้ว หลวงพ่อเปิ่นยังได้รับการถ่ายทอดในสายอักขระโบราณเป็นรูปแบบของยันต์ต่าง ๆ การลงอาคมตามทางเดินของสายพระเวทย์จนเป็นที่ชำนาญ กล่าวกันว่าอักษร อักขระ ที่หลวงพ่อเปิ่นลงหรือเขียนนั้นสวยงาม มีเสน่ห์เป็นยิ่งนัก
ในช่วงเวลา ๔ ปีกว่า ๆ ที่หลวงพ่อเปิ่นศึกษาวิชาต่าง ๆ จากพระอาจารย์หลวงปู่หิ่ม อินฺทโชโต และอยู่ปรนนิบัติพระอาจารย์จนถึงกาลที่พระอาจารย์หลวงปู่หิ่มละสังขาร มรณภาพ ซึ่งนับเป็นศิษย์องค์สุดท้ายที่ได้อยู่ปรนนิบัติหลวงปู่หิ่ม อินฺทโชโต หลังจากที่พระอาจารย์มรณภาพ หลวงพ่อเปิ่นจึงได้ออกจาริกปฏิบัติธรรม แสวงหาสัจจธรรม และในจุดประสงค์ลึก ๆ ของหลวงพ่อเปิ่นนั้นต้องการแสวงหาพระอาจารย์เพื่อศึกษาพระเวทย์
ในช่วงนั้นมีพระอาจารย์องค์หนึ่ง โด่งดังมากในเรื่อง "เตโชกสิณ" นั่นคือ องค์หลวงพ่อโอภาสี จำพรรษาอยู่ที่วัดรังษี (เดิมอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศน์ ต่อมาจึงยุบไปรวมกับวัดบวรนิเวศน์) หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ จึงเข้าไปฝากตัวศิษย์ หลวงพ่อโอภาสี ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส
ในครั้งนั้นหลวงพ่อเปิ่นเข้าศึกษากับพระอาจารย์หลวงพ่อโอภาสีเป็นเวลาเกือบปี จึงกราบลาพระอาจารย์หลวงพ่อโอภาสี เพื่อออกธุดงค์ต่อไป ตามแนวของพระอาจารย์ หลวงพ่อเปิ่นเคยปรารภให้ศิษย์ฟังว่า
"
อาตมาเรียนด้วย ปรนนิบัติท่านโอภาสีไปด้วย คงเป็นเพราะบุญบารมีของอาตมาที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนก็ว่าได้ จึงได้มีโอกาสศึกษากับท่านโอภาสี สำคัญมาก ๆ จริง ๆ และถ้าหากอาตมาไม่แสวงหาวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินแล้วก็จะอยู่เพียงแค่นี้ไม่ก้าวหน้าต่อไป วิชาก็ไม่แน่นพอ ไม่ได้เห็นแสงสว่างของธรรมและยังไม่ได้เข้าถึงคุณวิชาความที่ต้องศึกษาจึงจำเป็นต้องไปเพื่อกาลข้างหน้าจะได้เป็นผู้รู้บ้าง แต่จะได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็แล้วแต่บุญกุศลเถิดว่าจะสนองตอบเราได้เพียงใด"
ทราบกันเพียงว่าหลังจากองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นเข้ารับการถ่ายทอดในสายวิชาของหลวงพ่อโอภาสีแล้วทำให้หลวงพ่อเปิ่นท่านทราบได้ถึงสายวิชาที่มีอยู่อย่างมากในภพหล้าของเมืองไทยอีกทั้งได้รับการชี้แนะ จากองค์ท่านหลวงพ่อโอภาสีถึงองค์พระภิกษุสงฆ์เจ้าที่เก่งในด้านวิชา ตามเส้นทางที่องค์ท่านหลวงพ่อโอภาสีท่านเคยจาริกแสวงมา
หลังจากที่กราบลาองค์พระอาจารย์หลวงพ่อโอภาสี หลวงพ่อเปิ่นจึงออกธุดงค์มุ่งสู่ป่าเขาลำเนาไพรอีกครั้ง โดยมุ่งหน้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นแหล่งใหญ่ของการปฏิบัติบำเพ็ญภาวนาซึ่งป่าแถบเมืองกาญจนบุรี มีพร้อมสำหรับผู้แสวงหาสัจธรรมและความวิเวก
อีกทั้งองค์พระคุณเจ้าที่เก่งและเสาะหาในสายวิชาต่างมุ่งตรงสู่ป่าเขาในจังหวัดกาญจนบุรีกันเป็นส่วนมาก จึงเป็นโอกาสดีของการรับรู้และแลกเปลี่ยนในสายวิชาซึ่งกันและกัน
ช่วงนี้นี่เองที่ชีวประวัติองค์หลวงพ่อเปิ่น ได้หายไปจากเมือง ทราบเพียงว่าองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น ท่านออกจาริกข้ามขุนเขาตะนาวศรี เข้าสู่เมืองมะริดของประเทศพม่าเข้าสู่บ้องตี้เซซาโว่ เกริงกาเวีย า (พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๕๐๔ ) ซึ่งป่าแถบนั้นเป็นป่า ที่ซ่อนอาถรรพ์ลี้ลับนานาประการเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากสัตว์อันตรายจากสิ่งลี้ลับ มนต์ดำแห่งป่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นเกิดความกลัวแต่อย่างใด กลับตรงกันข้ามท่านกลับมุ่งใจพุ่งองค์เองเข้าสู่แดนอาถรรพณ์มหันตภัยแห่งนี้ แน่นอนละ หากในสายวิชาไม่แข็ง หรือจิตไม่เพียบพร้อม ณ ป่านี้นี่เองที่องค์ธุดงค์วัตรหายไปอย่างลึกลับ มีมาแล้วจะเป็นด้วยไข้ป่า ผีป่า นางไม้ วิญญาณร้ายต่าง ๆ ที่สำคัญคือสัตว์ร้ายนานาชนิดที่มีอยู่อย่างมาก โดยเฉพาะ "เสือสมิง" ที่นี่มีตำนานที่เล่ากันมาตั้งแต่บรรพกาล ในส่วนของเสือร้ายที่สามารถกลับกลายแปลงร่างเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ที่ศึกษาวิชาทางด้านนี้ จนสามารถกลับกลายร่างตนเองเป็นเสือสมิงไป และไม่ได้กลับร่างมาเป็นคนอีก เป็นเรื่องจริง ในสายวิชาเร้นลับวิชาหนึ่ง
ในส่วนองค์หลวงพ่อเปิ่น ท่านไม่ได้ประหวั่นพรั่นพรึงในส่วนนี้เลยแม้แต่น้อย จะเป็นด้วยเพื่อทดลองสายวิชาที่ได้เล่าเรียนมาหนึ่ง หรือเป็นด้วยองค์ท่านตัดทางจิตแล้วที่จะอุทิศตนเพื่อพระศาสนา ดังนั้นจิตอันสงบ จึงทำให้ไม่กลัวอะไรแม้แต่น้อย ช่วงนี้องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นประวัติเงียบหายไปอย่างสนิทมีเพียงคำบอกเล่าของชาวบ้านว่าเจอองค์ท่านบ้าง ชาวเขา ชาวป่า พวกกระเหรี่ยง บอกว่าเจอองค์ท่านและองค์ท่านได้ช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวป่า ชาวเขามาแล้วบ้าง
เป็นดังนี้ กระทั่งปลาย พ.ศ. ๒๕๐๔ บ่ายแก่ของวันหนึ่ง พระธุดงค์วัยกลางคนมาปักกลดอยู่ชายป่าใกล้กับวัด ทุ่งนางหลอก อ.ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี ที่นี่นี้เององค์พระธุดงค์องค์นี้ได้สร้างศรัทธาให้แก่ชาวบ้านอย่างมากมาย ทั้งปฏิปทาที่เคร่ง ทั้งสายวิชาสานยาสมุนไพรช่วยเหลือชาวบ้าน ยิ่งเข้ากราบยิ่งเป็นที่กล่าวขาน เกิดเป็นศรัทธาอันสูงสุดของชาวบ้านที่พุ่งตรงสู่พระคุณเจ้ารูปนี้ "หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ " คือองค์ธุดงค์องค์นั้น ประจวบกับวัดทุ่งนางหลอกซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่มีเจ้าอาวาสมีเพียงพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่สองสามรูป จนจะกลายเป็นวัดร้างอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ที่จะช่วยพัฒนาวัดทุ่งนาวัดนางหลอกให้กลับมาคืนมาอีกครั้ง คือองค์พระธุดงค์องค์นี้ จึงได้พร้อมกันนิมนต์องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นให้ท่านช่วยพัฒนาเสนาสนะต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเหมือนเดิมและให้องค์ท่านอยู่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นที่พึ่งพาอาศัยของพวกเขาต่อไป
หลวงพ่อเปิ่นรับนิมนต์ เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งนางหลอก องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น ใช้ความรู้ความสามารถขององค์ท่านทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับแถบถิ่น เช่นวิชาแพทย์แผนโบราณ พระคาถาอาคมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านเท่าที่จำเป็น เพียงระยะเวลาไม่นานที่องค์พระคุณเจ้าหลวงพ่อเปิ่นมาเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งนางหลอก การพัฒนาวัดรุดหน้าไปมาก เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างแปลกหูแปลกตา ทำให้ชื่อเสียงองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นเป็นที่รู้จักและเริ่มกระจายออกไปกว้างขึ้น ๆ จากคำบอกเล่าปากต่อปาก ประจวบกับองค์ท่านมีจริยาวัตรอันงดงาม มีวิชาแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งมีวิชาอาคมที่เป็นเลิศ เพียงไม่ถึง 2 ปี ที่องค์ท่านจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งนางหลอก จ.กาญจนบุรี วัดนี้เจริญขึ้นพอสมควร องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น จึงออกจาริกต่อไป นำพาซึ่งความอาลัยเสียดายแก่ชาวบ้านทุ่งนางหลอก เป็นยิ่งนัก
สู่วัดโคกเขมา หลังจากออกจากวัดทุ่งนางหลอก องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ จึงออกธุดงค์มุ่งสู่สมถะวิเวกอีกครั้งยาวนานร่วม 2 ปี โดยใช้เส้นทางวึ่งเป็นป่าดงดิบรกชัฏตามกาลสมัย ระหว่างทางองค์ท่านแวะพักที่วัดโคกเขมา ต.แหลมบัว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งก็ตรงกับจังหวะที่วัดโคกเขมา ไม่มีเจ้าอาวาสพอดิบพอดี วัดโคกเขมา นับว่าไกลปืนเที่ยงอยู่เหมือนกัน กันดารอยู่กลางป่า การเดินทางไปมาแสนลำบาก เมื่อชาวบ้านทราบว่ามีพระธุดงค์เข้ามาพักที่วัดและทราบต่อมาทราบว่าเป็นศิษย์ของหลวงปู่หิ่ม อินทฺโชโต ชาวบ้านจึงพากันนิมนต์องค์หลวงพ่อเปิ่น ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา
หลวงพ่อเปิ่นจึงต้องรับนิมนต์เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมามาตั้งแต่กาลนั้น คณะสงฆ์ในตำบลแหลมบัว ออกประกาศและแต่งตั้งให้หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมาสืบไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เมื่อเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกเขมาองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น จึงได้เริ่มพัฒนาวัด ก่อสร้างเสนาสนะซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างเกิดจากศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นในเวลานั้น และที่วัดโคกเขมานี่เอง องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นท่านได้สร้างพระเครื่องเป็นครั้งแรก ปัจจุบันพระเครื่องรุ่นนี้ของวัดโคกเขมา หาเป็นสิ่งยากเพราะเป็นพระเครื่องที่มีประสบการณ์ สร้างอภินิหารให้ผู้ที่ครอบครองได้ประจักษ์
หลังจากรุ่นรูปหล่อเนื้อทองแดงของท่านแล้ว พระเครื่องและวัตถุมงคลต่าง ๆ จากวัดโคกเขมาจึงออกมาเพื่อให้ศิษย์และประชาชนได้เช่าหาบูชากัน เพื่อนำเงินบำรุงพัฒนาวัดโคกเขมาทั้งหมด ที่วัดโคกเขมาองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นออกพระเครื่องทั้งเนื้อผง (สมเด็จ) ทั้งรูปหล่อ ทั้งเหรียญพระบูชา (พระสังกัจจายน์) ซึ่งชมได้จากภาพที่ได้จัดเรียงไว้อย่างครบครันในประมวลภาพพระเครื่องของวัดโคกเขมา (เล่มที่1) ทุกชิ้นทุกอย่างทุกองค์ในเวลานั้นดูมีค่ามากสำหรับชาวบ้านที่รับไป นั่นหนึ่งละที่เป็นเหตุให้ชื่อองค์ท่านหลวงพ่อขจรไกลไปทั่วแคว้น ทุกอย่างเกิดจากประสบการณ์ของผู้ใช้ทั้งสิ้น
จึงไม่แปลกเลยทีช่วงนั้น ณ กุฎิท่านวัดโคกเขมา ซึ่งมีพร้อมทั้งทางด้านไสยศาสตร์ ทั้งทางด้านปฏิบัติธรรม ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติจนเป็นที่เลื่อมใสแก่ผู้ที่มากราบไหว้พบเห็น ชนทุกเหล่าทุกนามที่ทราบข่าวต่างเข้ามากราบไหว้กันจนกุฎิไม่แห้ง ที่กล่าวขานกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น จวบปัจจุบันตั้งแต่วัดโคกเขมาเป็นต้นมานั่นคือ " การสักยันต์ " แน่ละหากกล่าวถึงหลวงพ่อเปิ่นในหมู่ของชายฉกรรจ์ตั้งแต่อดีตมาหากเป็นสมัยท่านแล้วละก็ ต้องยกนิ้วให้องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น ในเรื่องของไสยศาสตร์เวทมนต์คาถาที่ส่งลงสู่ร่างของชายชาตินักสู้ในรูปแบบขององค์ท่านเอง
ทุกอย่างสมบูรณ์เพียบพร้อมถึงขนาดมีข่าวคราวกระพือโหมไปทั่วว่า แม้สิ้นชีพไปแล้ว มีดผ่าตัดยังไม่สามารถเฉือนเนื้อลงได้เลย คงทราบกันดีแล้วนะครับในข่าวนี้ องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นในสมัยที่องค์ท่านยังมิได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครู ฯ องค์ท่านลงมือสักลงอักขระเวทด้วยองค์ท่านเอง มาภายหลังที่ท่านประสิทธิ์ประสาทให้แก่ศิษย์เป็นผู้สักแทน องค์หลวงพ่อเพียงทำพิธีครอบให้เท่านั้น เรื่องการสักขององค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นกล่าวกันเพียงบทสรุปองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น ท่านจะชอบ " เสือ " ด้วยเหตุผลที่องค์หลวงพ่อบอกเพียงสั้นแก่สานุศิษย์ว่า เสือเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ เพียงเสียงคำรามสัตว์ทั้งหลายก็สงบเงียบ กลิ่นของเสือสัตว์ทั้งหลายเมื่อสัมผัสจะยอมในทันที หลีกทันก็ต้องหลีก จัดอยู่ในมหาอำนาจ เสือรูปร่างสง่างาม เต็มไปด้วยอำนาจบารมีจัดอยู่ในมหานิยม
ในช่วงปี ๒๕๑๔ หลวงพ่อเปิ่นได้รับสมณศักดิ์เป็นพระใบฎีกา ฐานานุกรมในพระอุดมสารโสภณ เป็นช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา อันเป็นเวลาที่วัดโคกเจริญรุดหน้าขึ้นอย่างสูงสุด
พ.ศ. ๒๕๒๒ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่พระครูฐาปนกิจสุนทร
พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบ้ตรชั้นเอกในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับพระราทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอุดมประชานาถ
หลวงพ่อเปิ่นมรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ เวลา ๑๐.๕๕ รวมอายุ ๗๙ ปี